ผู้ตรวจการแผ่นดินไทย-จีน เซ็นเอ็มโอยู แก้ปัญหาเรื่องร้องเรียน

12 มิ.ย. 2560 | 08:17 น.
ผู้ตรวจการแผ่นดินไทยจับมือกระทรวงการตรวจสอบแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงนาม MOU พัฒนาระบบแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนส่งเสริมสิทธิประชาชนในประเทศคู่ภาคี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 มินายน) ณ ห้องประชุม 902 ชั้น 9 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้การต้อนรับ นายเซียว เผย (Mr. XIAO Pei) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการตรวจสอบแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะ ในโอกาสการลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการตรวจสอบแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพัฒนาช่องทางการร้องเรียน การให้บริการ และการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนของประเทศคู่ภาคีที่ไปพำนักในแต่ละประเทศ

1
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 ก็ได้มุ่งมั่นทำหน้าที่ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนและสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนอย่างเต็มความสามารถมาโดยตลอด นอกจากนี้ ในเวทีระดับนานาชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (International Ombudsman Institute หรือ IOI) และสมาคมผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งเอเชีย (Asian Ombudsman Association หรือ AOA) และในโอกาสที่ได้ดำรงตำแหน่งเหรัญญิก (Treasurer) ของคณะกรรมการบริหารของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมานั้น จึงใช้โอกาสนี้เร่งพัฒนาความสัมพันธ์กับองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินนานาประเทศ ทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี ผ่านการดำเนินกิจกรรมและโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มี MOU จัดทำความร่วมมือในระดับทวิภาคีอย่างเป็นทางการกับองค์กรด้านการตรวจสอบอำนาจรัฐของ 2 ประเทศ ได้แก่ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตและสิทธิพลเมืองแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Anti-Corruption and Civil Rights Commission หรือ ACRC) เมื่อปีพ.ศ. 2554 และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อปีพ.ศ. 2558 โดยในครั้งนี้ จะเป็นการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงการตรวจสอบแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (The Ministry of Supervision of the People’s Republic of China) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีขอบเขตภารกิจเทียบเคียงได้กับผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยในหลายมิติ นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญ อันเป็นเครื่องหมายแห่งมิตรภาพของการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของทั้งสองประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นความร่วมมือทางวิชาการ ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเรียนรู้จุดเด่นของระบบของแต่ละภาคี พัฒนาระบบการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน แก้ไขความเดือดร้อนและความไม่สะดวกที่ประชาชนของทั้งสองประเทศประสบปัญหาในการดำรงชีวิต โดยวางแผนให้มีการจัดประชุมเชิงนโยบายระดับสูงอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก ๆ ปี และส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรผ่านการสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกัน ซึ่งบันทึกความเข้าใจนี้จะมีผลบังคับใช้ 3 ปี และจะต่อระยะเวลาการบังคับใช้คราวละ 3 ปี โดยอัตโนมัติ

2
“ประเทศไทยและจีนมีการเชื่อมสัมพันธไมตรีมาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน และครอบคลุมในมิติต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม การค้า วัฒนธรรม และประชาชน เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการตรวจสอบแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สานสัมพันธ์กันมานานกว่าทศวรรษ โดยการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้บริหารระดับสูงของทั้งสององค์กร เพื่อเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ สำหรับการหารือเบื้องต้นในวันนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสององค์กรต่อกัน เช่น กรอบอำนาจ หน้าที่และกระบวนการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขั้นตอนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และระบบการติดตามขั้นตอนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเพื่อให้มั่นใจว่าถูกต้องและยุติธรรม ในส่วนของกระทรวงการตรวจสอบแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเองก็มีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน คือ การถอดถอนข้าราชการระดับสูงผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้พ้นจากตำแหน่ง จึงได้มีการพูดคุยถึงกระบวนการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายในประเทศจีนด้วย ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานของทั้งสององค์กรในอนาคตได้ อันจะนำไปสู่ความยุติธรรมและประโยชน์สุขของประชาชนทั้งสองประเทศ และในฐานะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ ก็จะพยายามผลักดันให้สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้าไปมีบทบาทในเวทีของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นเหล่านี้ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่แสดงถึงศักยภาพของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยในระดับนานาชาติ” พล.อ.วิทวัส ระบุ

3