"วิษณุ" เผยหาก ”กม.สื่อ” ออกมาต้องปฏิบัติ "จ้อน" ชี้! หากขัดมาตรฐาน สปท.ตีตกได้

27 เม.ย. 2560 | 08:26 น.
วันที่ 27 เม.ย.60–เมื่อเวลา 12.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ว่า เมื่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ส่งมาให้รัฐบาล ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไร เช่นเดียวกับกฎหมายอื่นๆ ส่วนที่กังวลกันว่าเมื่อกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้แล้ว จะทำให้การทำงานตรวจสอบของสื่อมวลชนไม่อิสระนั้น คิดว่า เมื่อออกเป็นกฎหมายแล้วต้องปฏิบัติตาม ที่ผ่านมาสปท.มีการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว ต่อไปจะรับฟังเพิ่มหรือไม่ก็ได้ เมื่อส่งไปถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็แล้วแต่ สนช. เช่นเดียวกับกฎหมายลูก ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้รับฟังความคิดเห็นมาแล้ว สนช.ก็ยังนั่งฟังความคิดเห็นอยู่

เมื่อถามว่า ที่สุดแล้วร่างกฎหมายดังกล่าว ท้ายที่สุดต้องผลักดันให้เป็นกฎหมายบังคับใช้จริงใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ส่วนที่เรื่องดังกล่าวเป็น 1 ใน 27 วาระเร่งด่วนของการปฏิรูปของสปท.นั้น เมื่อเขาแจ้งมาเราก็รับมาหมด ไม่ได้ไปแตะต้องเพิ่มเติม หรือตัดทอนอะไร แต่ถึงเวลาก็ต้องเอามาดู เพราะที่ผ่านมาในส่วนวาระเร่งด่วนเราได้พิจารณาในกรอบกว้างๆ ว่าวาระของรัฐบาลและสปท.มีอะไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการพิจารณาทบทวนมาตรา 44 อีกว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการ อย่าใช้คำว่ายกเลิกม.44 เป็นเพียงการทบทวนความจำเป็นรายฉบับ และมีที่สิ้นสุดผลไปแล้ว 10-20 ฉบับ ก็ไม่ต้องยกเลิกอะไร

 

จ้อนชี้หากขัดมาตรฐาน สปท.ตีตกได้

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาวิปสปท.ได้เสนอให้ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อสารมวลชน สปท. นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกลับไปแก้ไขถึง 2 ครั้ง และในวันนี้ คณะกรรมาธิการฯ ก็ได้นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมวิปสปท.อีกครั้ง อย่างไรก็ตามการปฏิรูปสื่อสารมวลชนถือเป็นหนึ่งในการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน สื่อถือเป็นปัจจัยของการพัฒนาประเทศ

“ขอยืนยันว่า สปท.ไม่ได้มีความต้องการที่จะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือครอบงำสื่อ แต่ต้องการจะส่งเสริมคุณภาพในการประกอบวิชาชีพสื่อ อยากให้สื่อประกอบอาชีพอย่างมีจรรยาบรรณ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม เพราะผมก็เคยเป็นสื่อมวลชน เข้าใจว่ามีความลำบากยากแค้นมาก แต่ประเทศต้องมีการพัฒนาต่อไป ทุกวิชาชีพก็ต้องพัฒนาต่อไป”นายอลงกรณ์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีการบัญญัติโทษในร่าง พ.ร.บ.ฯว่าถ้าหากไม่มีใบประกอบวิชาชีพจะต้องติดคุกเป็น เวลา 3 ปี นายอลงกรณ์กล่าวว่าตนยังไม่ได้ดูรายละเอียด ขอเรียนว่านี่เป็นแค่ร่างเบื้องต้นเท่านั้นเอง จะต้องส่งไปที่วิป สปท. และผ่านการพิจารณาของ สปท.แล้วถึงส่งไปยังครม. อย่างไรก็ตามว่าอะไรที่ขัดต่อมาตรฐานสากล ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ทาง สปท.ก็คงจะปล่อยผ่านไปไม่ได้ แต่ทางสื่อมวลชนก็ต้องมองอย่างรอบด้านด้วยเช่นกัน อย่ามองแค่ด้านเดียว

 

นายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการและโฆษกกมธ.วิสามัญกิจการ  สภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ (วิปสปท.) แถลงภายหลังการประชุมว่า สัปดาห์หน้าสปท.จะมีประชุม 2 วัน โดยในวันที่ 1 พ.ค.นี้ จะพิจารณารายงานการปฏิรูปของกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อมวลชน  2 เรื่องคือ 1.การปฏิรูปการสื่อสารมวลชน : ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. และร่างพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …. 2.ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์

ทั้งนี้ นายคำนูณ กล่าวขณะที่การประชุม สปท.ในวันที่ 2 พ.ค. จะพิจารณารายงานจำนวน 2 เรื่องคือ 1.รายงานการปฏิรูปของกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่อง การถ่ายโอนภารกิจภาครัฐ : การถ่ายโอนภารกิจของเจ้าพนังงานพิทักษ์ทรัพย์  2.รายงานการปฏิรูปของกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสังคม เรื่อง การส่งเสริมการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ

เมื่อถามว่า อยากทราบว่า ทำไมวิปสปท.ถึงบรรจุกฎหมายคุมสื่อฯเข้าสู่การประชุมสปท.อีกครั้ง นายคำนูณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาวิปสปท.ได้มีการพิจารณาแล้ว และมีมติให้นำกลับมาทบทวน ตามที่วิปสปท.ได้เสนอความเห็นต่อกมธ.สื่อฯ 3 -4 ประเด็น ก่อนที่จะเสนอกลับมายังวิปสปท.อีกครั้ง ซึ่งจากการหารือกมธ.สื่อฯยังคงยืนยันความเห็นเดิมว่า กมธ.ได้มีการทบทวนแล้ว และยืนยันในประเด็นที่ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกมธ.สื่อฯ กับ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธาน กมธ.สื่อฯ ได้ออกมาแถลงข่าวความคืบหน้าการพิจารณาเป็นระยะๆ

"ดังนั้น วิปสปท.จึงมีมติให้นำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเพื่อให้สมาชิกได้แสดงความเห็นอย่างหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่การตอบโต้ไปมาระหว่างตัวแทนองค์กรสื่อฯกับกมธ.สื่อ ส่วนจะมีโอกาสที่ร่างกฎหมายดังกล่าว จะถูกตีกลับมาทบทวนอีกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมในวันที่ 1 พ.ค.นี้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร" นายคำนูณกล่าว