ปลดล็อกร่วมลงทุน นายกฯรับศึกษาลดขั้นตอน 20 เดือนเหลือ 9 เดือน

25 เม.ย. 2560 | 00:00 น.
ป.ย.ป.รับลูก 4 ข้อเสนอทีมเตรียมการปฏิรูปมอบ “วิษณุ” ศึกษาความเป็นไปได้ หวังปลดล็อกกฎหมายเปิดเอกชนร่วมลงทุน ชงจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม-ตลาดนัดชุมชน-ประกันภัยผลผลิตเกษตร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี กรรมการ ป.ย.ป. และคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 39 คนที่อยู่ใน 4 คณะกรรมการย่อยของ ป.ย.ป. ได้แก่ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ครั้งนี้ถือเป็นการประชุม ป.ย.ป. แบบเต็มคณะครั้งแรก โดยคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ได้รายงานความคืบหน้าการทำงานตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา พร้อมมีข้อเสนอแนะสำคัญต่อที่ประชุม 4 เรื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับทั้งหมดไว้ให้มาดำเนินการ ดังนี้ การผ่อนคลายมาตรการตามกฎหมายร่วมลงทุน หรือกฎหมายความร่วมมือระหว่าภาครัฐและเอกชน(พีพีพี) เนื่องจากเห็นว่า หากกฎหมายตึงเกินไป การจะไปชักชวนใครให้มาร่วมลงทุนด้วยนั้นจะทำได้ยาก

“จากที่รัฐบาลได้ขันน็อตเรื่องของการป้องกันการทุจริตเอาไว้ ควรมาปลดล็อกคลายน็อตในส่วนของการร่วมทุนให้เกิดความคล่องตัวขึ้น จะทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งทางสภาปฏิรูปประเทศ(สปท.) ได้นำเสนอรายงานไทม์ไลน์การดำเนินการตามกฎหมายปกติ ชี้ให้เห็นว่าหากสามารถไปลด ปลดล็อกบางขั้นตอนลง จากที่ใช้เวลา 20 เดือนลดเหลือ 9 เดือนได้ เป็นต้น ซึ่งจะขอนำไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติต่อไป”

นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า เวลาที่จะปลดล็อกหรือผ่อนคลายล็อก ตามหลักการจะใช้มาตรา 44 ซึ่ง สปท. เห็นว่าไม่อาจที่จะใช้ มาตรา44 ปลดล็อกได้ทุกเรื่อง บางเรื่องคงจะทำแบบครอบจักรวาลให้เป็นผลกับทุกองค์กรจะดีกว่า จึงจะขอนำไปศึกษาดูความเหมาะสมก่อน

P15-3255-b นอกจากนี้ สปท.ยังเสนอให้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งตลาดนัดชุมชนขึ้นในทุกจังหวัด เพื่อเป็นตลาดสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงสนับสนุนให้มีแหล่งน้ำขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่า หลุมขนมครก เพิ่มขึ้นในแต่ละหมู่บ้านด้วย ตลอดจนการเสนอให้มีการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ไปหาช่องทางขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นต่อไป

สุดท้ายคือ การจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมโดยจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานศาลยุติธรรม และกระทรวงยุติธรรมว่า ความพร้อมหรือไม่ อย่างไร ที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น เนื่องจากพบว่าในแต่ละปีมีคดีสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นประมาณ 10,000 เรื่อง ขณะที่คดีดังกล่าวนั้นต้องอาศัยผู้มีความรู้ความชำนาญ จะใช้ผู้พิพากษาอาชีพเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีนักวิชาการสิ่งแวดล้อมมาเป็นผู้พิพากษาสมทบด้วย ซึ่งอาจจะมีการจัดตั้งเป็นศาลชำนัญการพิเศษขึ้นมาใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้ ทางสปท.ได้นำเสนอร่างดังกล่าวมาให้ด้วย

ขณะที่คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ รายงานถึงการพิจารณาการตัดสินใจดำเนินการเรื่องสำคัญต่าง ๆ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านมติ ครม.ได้มีมติลงนามในสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้การเดินรถสามารถเชื่อมโยงกันได้ รวมถึงการดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีนที่จะดำเนินการได้ภายใน 2 เดือนข้างหน้านี้ ตลอดจนการพิจารณากฎหมายเขตพัฒนาพิเศษอีอีซี รวมถึงการแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และพืชเกษตรอื่น ๆ

คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้รายงานให้ทราบถึงการเตรียมการ 6 ด้าน และล่าสุดร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ และร่างกฎหมายแผนขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาลได้ผ่านวาระแรกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายวิษณุ ระบุด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นศิลาฤกษ์ก้อนแรกที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญที่ต้องออกมาประกาศใช้ภายในเดือนสิงหาคม หรือภายใน 4 เดือนนี้ จากนั้นจึงจะมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจำนวน 32 คน เพื่อไปจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560