จี้รื้อก.ม.พรรคการเมือง ‘อภิสิทธิ์’ย้ำหลักการดี-ปฏิบัติยาก ติดใจปมค่าบำรุงสมาชิกทำยุ่งยาก

17 เม.ย. 2560 | 10:00 น.
“อภิสิทธิ์” เชื่อสนช.แก้กฎหมายพรรคการเมืองแน่ชี้หลักการดีแต่ปฏิบัติยาก หวังประชาชนมีส่วนร่วม แต่กฎหมายหลายฉบับกีดกันคนเป็นสมาชิกพรรค หวั่นทำจำนวนสมาชิกลด

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เตรียมส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อย่างเป็นทางการในวันที่ 18 เมษายนนี้ ก่อนที่ สนช.จะเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมวันที่ 21 เมษายนต่อไป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่า เห็นด้วยที่ กรธ.จะส่งร่างกฎหมายพรรคการเมือง กับ กกต.ให้สนช.พิจารณาก่อน เพราะเป็นกฎหมายที่ต้องทำให้เร็ว เนื่องจากทั้ง กกต.และพรรคการเมืองต้องปรับตัวตามกฎหมายใหม่ที่ควรเร่งทำแต่เนิ่นๆ เพราะหากกกต.และพรรคการเมืองต้องปรับตัวช่วงเลือกตั้งก็จะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายได้

“การที่นายมีชัย ได้วางยุทธศาสตร์ หรือโรดแมปไว้ว่าควรทำกฎหมาย 2 ฉบับนี้ให้เร็ว และตัวกฎหมายเลือกตั้งดึงเอาไว้ก่อน จึงน่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด หลังจากที่มีการขอความเห็นจากพรรคการเมืองแล้วคาดว่าจะมีการแก้ไขมากพอสมควร เพราะร่างนี้ยังมีความสับสนค่อนข้างมาก เช่น การให้สมาชิกเสียค่าบำรุงพรรค ซึ่งระหว่างนั้นจะตีความสถานะสมาชิก องค์ประกอบสาขาพรรคที่ประชุมใหญ่ รวมทั้งจะมีการประชุมกันครั้งแรกกันอย่างไร ยังมีความสับสนพอสมควร ผมเชื่อว่าสนช.ต้องมีการปรับแก้ในประเด็นเหล่านี้ จึงอาจต้องไปให้ความเห็นกันอีก”

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในกฎหมายจะกำหนดกรอบเวลาที่พรรคการเมืองต้องแก้ข้อบังคับให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่อยู่แล้ว คาดว่าหลังจากประกาศใช้ 3-4 เดือน ก็ต้องทำให้เรียบร้อย แต่ยังติดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ไม่ให้ประชุม ซึ่งก็จะทำให้พรรคการเมืองทำตัวไม่ถูก เมื่อกฎหมายพรรคการเมืองออกมา ตนคิดว่าคสช.ต้องทบทวนคำสั่งว่าจะผ่อนคลายแค่ไหน

ส่วนการเตรียมความพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่มีปัญหา เพราะโครงสร้างพรรคให้สมาชิกมีส่วนร่วมมากกว่าที่กฎหมายเขียนด้วยซ้ำ เช่น ผู้บริหารสาขาพรรคเลือกโดยสมาชิกในพื้นที่อยู่แล้ว ขณะที่กฎหมายใหม่กำหนดให้มีแค่ 4 สาขา แต่เรามีกว่า 150 สาขา และการเลือกกรรมการบริหารโดยที่ประชุมใหญ่ก็ทำอยู่แล้ว แต่ปัญหาใหญ่คือทำอย่างไรที่จะสื่อสารกับสมาชิกจำนวนนับล้านในเรื่องความจำเป็นที่ต้องจ่ายเงินค่าบำรุงพรรค เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งตามธรรมชาติก็อาจจะทำให้จำนวนสมาชิกทุกพรรคลดลง

แต่สำคัญคือต้องมีความชัดเจนว่าสมาชิกพรรคจะมีสิทธิมากขึ้นอย่างไร เพราะปัจจุบันสมาชิกที่ไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคก็มีสิทธิอยู่แล้ว การจะไปบอกให้จายเงินแล้วสิทธิลดลงนั้นเป็นเรื่องยาก และการทำอย่างนี้ต้องสะสางปัญหาในอดีต คือนอกจากสิทธิสมาชิกไม่มีมากแล้ว หลายคนที่มาเป็นสมาชิกพรรค ที่ผ่านมารู้สึกว่าตัวเองสูญเสีย เพราะกฎหมายหลายฉบับห้ามไม่ให้เข้ารับตำแหน่ง จึงเป็นเรื่องที่สวนทางกับที่บอกว่าจะส่งเสริมให้มีส่วนร่วม แต่กลับกลายเป็นว่าเสียสิทธิในหลายเรื่อง ที่สำคัญคือในยุคที่รัฐบาลไม่มีคุณธรรมยังมีการกลั่นแกล้งสมาชิกพรรคของฝ่ายตรงข้ามอีกด้วย

นายอภิสิทธิ์ ย้ำว่า หลักคิดที่ว่าให้สมาชิกจ่ายค่าบำรุงพรรคจะทำให้เกิดความเป็นเจ้าของนั้นเป็นหลักการที่ดี แต่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและเปลี่ยนวิธีคิดของสังคม ถ้ายังมีการกีดกันโดยสะท้อนผ่านกฎหมายก็สวนทางกัน ถ้าทำแบบอารยะประเทศได้จริง เช่นการเป็นเจ้าของมีส่วนร่วมไม่ถูกตัดสิทธิหรือถูกกลั่นแกล้งเพ่งเล็งโดยฝ่ายตรงข้ามก็ไม่มีปัญหา ซึ่งจากที่พรรคได้เสนอความคิดไปส่วนหนึ่งก็ได้รับการตอบสนอง โดยมีการผ่อนผันให้สมาชิกที่ไม่ชำระค่าบำรุงมีเวลา 4 ปี ก่อนถูกตัดออกจากการเป็นสมาชิก ก็น่าจะเพียงพอต่อการปรับตัว

แต่บางเรื่องก็แปลก เช่น การเขียนเรื่องบทลงโทษการซื้อขายตำแหน่ง เช่นที่ระบุว่า พรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง กรรมการหากซื้อขายตำแหน่งทางการเมืองต้องมีโทษ ถามว่าแล้วคนไม่เป็นสมาชิกไม่ถูกลงโทษหรือ ตอนนี้จึงไปเติมคำว่า “ผู้ใด”เข้าไปแทน ซึ่งบทบัญญัตินี้ไม่ควรอยู่ในกฎหมายพรรคการเมือง แต่ควรจะอยู่ในกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการบริหารราชการแผ่นดิน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,253 วันที่ 16 - 19 เมษายน พ.ศ. 2560