นายกฯยึดโรดแมป ‘มีชัย’ชี้ 19 เดือนเลือกตั้ง-จ่อชงก.ม.ลูกถึงสนช.

06 เม.ย. 2560 | 07:00 น.
นายกรัฐมนตรีเผยเริ่มนับหนึ่งหลังรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ 6 เม.ย.นี้ ยํ้ายึดตามโรดแมปเดิม ระบุเลือกตั้ง “ช้า-เร็ว”ขึ้นอยู่กับขั้นตอนทำกฎหมายลูก

นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนนี้ เป็นต้นไป เมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จะถือเป็นจุดเริ่มต้นนับหนึ่งที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ที่คาดว่าจะมีขึ้นอย่างเร็วสุดในเดือนเมษายน หรืออย่างช้าสุดในเดือนกันยายน 2561

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เตรียมการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในวันที่ 6 เมษายนนี้ เวลา 15.00 น. ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมพระราชวังดุสิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 6 เมษายน

“นับจากนี้จะถือว่าเป็นการเริ่มต้นและนับหนึ่งซึ่งเป็นไปตามโรดแมปภายหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะเป็นไปตามการดำเนินการและขั้นตอนที่ได้ดำเนินการไว้ ส่วนการออกกฎหมายลูกจะช้าหรือเร็ว คงไม่สามารถบังคับได้ ยืนยันได้ว่ายังเดินตามโรดแมปและไม่มีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนใดๆ”

ส่วนกรณีที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)เตรียมยื่นใบลาออกเพื่อไปสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นั้น เป็นเรื่องส่วนตัวหากต้องการจะไปช่วยเหลือบ้านเมืองโดยเป็นตัวแทนประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาปฏิรูปประเทศ(สปท.) จะต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

ขณะที่การเลือกตั้งท้องถิ่น กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นตอนของการเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย และอยู่ในห้วงเวลาที่กำหนดไว้ทั้งหมด เพียงแต่ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่มีการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือ ทั้งนี้ขอย้ำว่าจะพยายามทำทุกอย่างอย่างดีที่สุด

ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นด้วยหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฎิรูปประเทศ พ.ศ.... และร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ....ภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกานำกลับไปตรวจสอบ ตามที่ ครม.เคยตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้

tp16-2350-b ส่วนนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกำหนดการเลือกตั้งและกรอบเวลาการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หลังโปรดเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 เมษายน ว่า ต้องขึ้นอยู่กับว่า 1.ทางพรรคการเมืองนั้นจะสามารถปฏิบัติตามข้อบังคับในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายในระยะเวลาเท่าไร ซึ่งตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองระบุว่าพรรคการเมืองมีเวลาอยู่ 180 วัน

2.กกต.จะต้องไปสรรหากรรมการให้มีคุณสมบัติและจะต้องออกกฎเกณฑ์ที่ปฏิบัติในองค์กรให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นระยะเวลาเท่าไร ซึ่งก็ไม่รู้ว่าหลังจากร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ กกต.จะมีจำนวนกรรมการเหลือพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนได้หรือไม่ หากกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระได้ชี้ชัดว่าขาดคุณสมบัติ เหลือ กกต.ไม่ถึง 4 คน กกต.ก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

นายมีชัย กล่าวด้วยว่า การส่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ว. ให้สนช.พิจารณาขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวของพรรคการเมืองและกกต. หากต้องใช้เวลาเตรียมตัวมาก กรธ.จะพิจารณากฎหมายลูกอีก 6 ฉบับที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไปก่อน โดยมีกำหนดส่งให้สนช.เดือนละฉบับ เริ่มเดือน พ.ค.

“ถ้าจะนับกรอบระยะเวลาการเลือกตั้งนับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ กรธ.พิจารณากฎหมายลูก 8 เดือน สนช.พิจารณาอีก 2 เดือน มากสุด 3 เดือนกรณีมีความเห็นต่างต้องตั้งกรรมาธิการร่วม และเมื่อกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับเสร็จนำขึ้นทูลเกล้าฯ และพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน จากนั้นเมื่อกฎหมายประกาศใช้ ต้องกำหนดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ดังนั้นหากใช้เวลาตามกรอบที่กำหนดประมาณ 19 เดือน จึงมีการเลือกตั้งซึ่งอาจจะเร็วกว่านี้ได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,250 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2560

TP16-3250-a