ก.ม.เศรษฐกิจในมือสนช.รอถก‘2 พ.ร.บ.ปิโตรเลียม’

01 เม.ย. 2560 | 05:00 น.
ในช่วงที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้พิจารณาร่างกฎหมายไปแล้วหลายร้อยฉบับ มีทั้งที่ผ่านเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.ก็มีจำนวนมาก

สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ในชั้นของสนช.นั้น สนช.ได้รับร่างพ.ร.บ.มาพิจารณาแล้วรวมทั้งสิ้น 285 ฉบับมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เสนอ 21 ฉบับ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เสนอ 196 ฉบับ และที่สมาชิกสนช.เสนออีก 4 ฉบับ ผ่านการพิจารณาวาระ 3 สนช.เห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว 228 ฉบับ ที่เหลืออยู่ในขั้นตอนของกระบวนการนิติบัญญัติ เช่น อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.ในวาระที่ 2 จำนวน 16 ฉบับ อยู่ในชั้นการพิจารณาของกมธ.วิสามัญฯ 12 ฉบับ รอบรรจุเข้าระเบียบวาระเพื่อพิจารณาในวาระที่ 1 อีก 3 ฉบับ หรือตกไปเนื่องจากเป็นร่างพ.ร.บ.การเงิน หรือผู้เสนอขอถอน หรือขอยุติการดำเนินการ อีกจำนวนหนึ่ง เป็นต้น

“ฐานเศรษฐกิจ”ตรวจสอบพบว่าร่างกฎหมายเศรษฐกิจที่น่าสนใจและอยู่ในชั้นการพิจารณาของ สนช.วาระ 2-3 อาทิ ร่างพ.ร.บ.ความรับผิดทางแพ่งเพื่อความเสียหายจากมลพษน้ำมัน พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาแล้วเสร็จ รอลงมติวาระ 3 สาระสำคัญคือ เจ้าของเรื่องต้องรับผิดอย่างเคร่งครัดกรณีสร้างความเสียหายจากมลพิษน้ำมัน รวมถึงให้มีการประกันภัยหรือหลักประกันทางการเงินอื่น

ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...)พ.ศ....อยู่ระหว่างการพิจารณาของกมธ.วิสามัญฯ ที่ขอขยายเวลา สาระสำคัญคือ การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมจากเดิมต้องได้รับสัมปทาน เพิ่มเป็นได้สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือได้รับสัญญาจ้างสำรวจและผลิต จะสำรวจหรือผลิตที่ใดเป็นอำนาจของคณะกรรมการจะกำหนด โดยความเห็นชอบของครม.

ร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิม เพื่อกำหนดผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเพิ่ม และกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีจากระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ซึ่งกมธ.วิสามัญกำลังพิจารณา

ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ... ตามที่ได้มีการจัดตั้งบอร์ดและกระทรวงดิจิทัลฯตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและอำนาจหน้าที่ให้รองรับเรื่องดังกล่าว

ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ....เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาให้เป็นธรรม กลไกส่งเสริมพัฒนา ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา เสนอแผนพัฒนาต่อครม. เสนอแนะหน่วยงานรัฐ และนำระบบจดแจ้งในการประกอบธุรกิจมาใช้กับการเกษตรระบบนี้

ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.... เพื่อให้มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม สอดคล้องมาตรฐานสากล โดยทารกหมายถึงเด็กแรกเกิดถึง 1ปี เด็กเล็กคือ อายุตั้งแต่ 1 ปีถึง 3 ปี ให้มีคณะกรรมการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก วางนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ รวมถึงบทลงโทษ

ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.ศุลกากรพ.ศ… . ซึ่งเป็นการกำหนดบททั่วไปเกี่ยวกับการดำเนินการทางศุลกากร หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดเก็บอากร การนำเข้า การส่งออก การผ่านแดน การถ่ายลำเป็นต้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของกมธ.วิสามัญฯ ที่ขอขยายเวลาพิจารณา

ร่างพ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง (ฉบับที่… )พ.ศ… . เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 เพื่อให้ชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น เกี่ยวกับนิยามคำว่าห้างหุ้นส่วน และบริษัท ความรับผิดต่อผู้บริโภค ฯลฯ อยู่ในชั้นกมธ.วิสามัญฯที่ยื่นขอขยายเวลาการพิจารณา

ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.... ยกเลิกกฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ มาเป็นฉบับเดียว เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และยกระดับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยประชาชน และสอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก

ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ... เพื่อกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับภาษีอากรเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายป.ป.ช. อยู่ในชั้นพิจารณาของกมธ.วิสามัญเช่นกัน

นอกจากนี้ร่างกฎหมายด้านเศรษฐกิจ ที่รอบรรจุเข้าระเบียบวาระพิจารณาของสนช. อาทิ ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการเรื่องน้ำให้เป็นเอกภาพ วางหลักเกณฑ์ประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ ให้มีองค์กรบริหารจัดการตั้งแต่ระดับชาติลงมาถึงผู้ใช้ ที่เปิดรับการมีส่วนร่วม และ ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ....เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจประเภทนี้ เนื่องจากกฎหมายทั่วไปที่มีอยู่ไม่อาจกำกับดูแลได้เพียงพอ เป็นต้น

กฎหมายแข่งขันทางการค้าฉลุย


นพ.เจตน์ ศิรธนานนท์ ประธานคณะกรรมการประสานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เปิดเผยว่า ร่างพ.รบ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ…แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.เดิมปี 2542 ผ่านสภาวาระ2-3 ไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ มีสาระสำคัญคือ ป้องกันการผูกขาดตลาดโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แม้จะแก้ไขให้เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐฯ ไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็มีข้อดีหลายประการที่ได้รับการแก้ไข

ประเด็นที่ถกเถียงกันมากในสภาคือ มาตรา 51 ที่ผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาด จะต้องแจ้งขออนุญาตจากคณะกรรมการ(คกก.)การแข่งขันทางการค้าก่อนการรวมธุรกิจ...หรือรวมไปก่อนแล้วจึงค่อยแจ้งให้คกก.ทราบภายใน 7 วัน สรุปผลสุดท้ายสภามีมติให้คกก.ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นก่อนแล้วจึงให้ผู้ประกอบธุรกิจขออนุญาต(Preauthorize) ก่อนควบรวมธุรกิจ

การรวมธุรกิจให้หมายความรวมถึง 1.ผู้ผลิตรวมกับผู้ผลิต ผู้จำหน่ายรวมกับผู้จำหน่าย ผู้ผลิตรวมกับผู้จำหน่ายหรือผู้บริการรวมกับผุ้บริการ โดยมีธุรกิจหนึ่งสิ้นสุดลง

2.การเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนของธุรกิจอื่น เพื่อควบคุมนโยบายการบริหารหรือการจัดการตามหลักเกณฑ์ของ คกก.

3.การเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดหรือบางส่วนของธุรกิจอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อควบคุมนโยบายหรือการจัดการตามหลักเกณฑ์ของคกก.

การอนุญาตต้องดำเนินการภายใน 90 วัน ขยายเวลาได้ไม่เกิน 15 วัน โดยการอนุญาตให้คำนึงถึงความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ ประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงและการไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญของผู้บริโภคส่วนรวม

ห้ามผูกขาดหรือลดการแข่งขันในลักษณะ 1.กำหนดราคาซื้อหรือราคาขายหรือเงื่อนไขทางการค้าใดๆไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมที่มีผลต่อราคาสินค้าหรือบริการ

2.จำกัดปริมาณสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะผลิต ซื้อ จำหน่ายหรือบริการตามที่ตกลงกัน 3.กำหนดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในลักษณะสมรู้กันเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งได้รับการประมูลราคาสินค้าหรือบริการหรือเพื่อมิให้ฝ่ายหนึ่งเข้าแข่งขัน 4.กำหนดแบ่งท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะจำหน่าย

“ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับทางปกครอง และบุคคลผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำการฝ่าฝืนได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) หรือสมาคมหรือมูลนิธิที่สคบ.รับรองตามกฎหมาย มีสิทธิฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,248
วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2560