กางโรดแมปดับไฟใต้ปี 2560 คปต.ชูกลยุทธ์ ทำเรื่องยาก-ช้า ให้ง่าย-เร็ว

10 ม.ค. 2560 | 02:00 น.
นับตั้งแต่รัฐบาลตั้ง คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) มอบหมายให้ บิ๊กโด่ง-พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้า เริ่มปฏิบัติงานวันแรกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ประชุมหารือร่วมกับส่วนงานราชการต่างๆที่รับผิดชอบในแผนงานโครงการ รวมถึงลงพื้นที่ดูความพร้อมระดับจังหวัด กระทั่งตกผลึกได้กรอบแผนงานครอบคลุม 7 กลุ่มงานภารกิจเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ อาทิ งานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและงานขับเคลื่อนนโยบาย และงานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าจะขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้ก็ยังไม่เร็วพอในทรรศนะของผู้นำประเทศ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นายภาณุ อุทัยรัตน์ ในฐานะคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และเลขานุการ คปต. ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” รับศักราชใหม่เกี่ยวกับโรดแมปแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการมุ่งไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงแนวนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในช่วง 3 ปีนี้ โดยเตรียมเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆนี้ รวมถึงภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไฮไลต์สำคัญของรัฐบาลที่นำมาแก้ไขปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

 ชู3ข.“เข้มแข็ง-แข็งแรง-เข้าใจ”

ตอนหนึ่งของการสนทนา นายภาณุ ฉายภาพโรดแมปการแก้ปัญหาชายแดนใต้ปี 2560 ว่า แบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกนั้นมุ่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมให้กับพื้นที่ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งอนุกรรมการชุดต่างๆ ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนแผนงานตามโครงการเมืองต้นแบบดังกล่าว ภายใต้หลักการทำงานที่เรียกว่า 3 ข. อันประกอบด้วย

1.แข็งแรง โดยมุ่งเน้นสร้างความแข็งแรงในระดับปัจเจกบุคคล สร้างการรับรู้ ให้การศึกษาทั้งด้านงานอาชีพและสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่กว่า 1.8 ล้านคน

2.เข้มแข็ง มุ่งเน้นระดับชุมชน หมู่บ้านและครอบครัว คงความเป็นพหุสังคม การรวมตัวกันป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้กับตนเอง รู้รักสามัคคีและการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ

และ 3.เข้าใจ คือ การสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนและสังคม ตลอดจนประชาคมโลก ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาภายในประเทศ และมิได้เกิดจากความแตกแยกทางศาสนาอย่างที่มีการบิดเบือนและกล่าวอ้าง ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนครั้งล่าสุด เกี่ยวกับการประเมินผลความพึงพอใจต่อรัฐบาล คสช. และการทำงานในรอบ 2 ปี ปรากฏว่า ประชาชนเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาและสร้างสันติสุขให้กับพื้นที่ได้ 72 % ขณะที่ 71 % พึงพอใจในความเอาจริงเอาใจของนายกรัฐมนตรี และอีก 70 % พึงพอใจในผลการทำงานของรัฐบาล

ส่วนระยะที่ 2 เป็นการทำงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2559 ระยะนี้เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นไปโดย คปต.จะทำงานขยายผลโครงการในแผนงานที่ตกค้างของโครงการสามเหลี่ยมมั่นคงฯ งานพัฒนาพื้นที่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญจากระยะแรก จัดลำดับความสำคัญที่ได้รวบรวมจากการร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ผนวกรวมเข้ากับการลงพื้นที่ปลายปี 2559 ที่ผ่านมา เน้นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดย คปต.อาจขอให้หน่วยงานราชการปรับเปลี่ยนแผนงานโครงการตามความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งจะประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดลำดับแผนงานและโครงการต่างๆให้ชัดเจนในวันที่ 25 มกราคม 2560 นี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติเห็นชอบโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคงฯ ซึ่งประกอบด้วย โครงการที่สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเมืองต้นแบบฯจำนวน 63 โครงการ กรอบวงเงิน 5,175.39 ล้านบาท เป็นโครงการที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนโดยเร็วจำนวน 39 โครงการ แบ่งเป็นโครงการที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2560 รวม 17 โครงการ วงเงิน 343.64 ล้านบาท และโครงการที่ต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2560 อีก 22 โครงการ วงเงินประมาณ 1,191 ล้านบาท

“ดังนั้น ข้อสรุปที่ได้ในวันที่ 25 มกราคมนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ คปต.อาจจะขอให้ขยับบางโครงการที่เห็นว่า มีความจำเป็น หรือเร่งด่วน สอดรับกับการพัฒนาพื้นที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาดำเนินการก่อนก็ได้” นายภาณุ ระบุ และว่า ระยะสุดท้าย คือ ช่วงการประเมินผลและติดตามการดำเนินงานของโครงการต่างๆ

 ทำเรื่องยาก-ช้า ให้ง่าย-เร็ว

พร้อมกันนี้ได้อธิบายขยายความหลักการทำงานของ คปต.เพื่อขับเคลื่อนโรดแมปดังกล่าวด้วยว่า ยึดหลักสำคัญอยู่ 2 ประการ ประการแรก คือ ทำเรื่องที่ยากและช้าให้เป็นเรื่องง่าย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดย คปต.ทำหน้าที่ประสานและบูรณาการงานที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงให้เกิดความรวดเร็วขึ้น มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินการบางโครงที่สำคัญก่อน โดยคณะผู้แทนพิเศษฯสามารถเกลี่ยงบประมาณจากกิจกรรมหนึ่งมายังอีกกิจกรรมหนึ่ง หรือนำโครงการในบางพื้นที่ที่สำคัญและจำเป็นมาทำก่อนได้

“มิใช่การใส่งบประมาณเพิ่มเติมลงไป แต่เป็นงบเดิมที่สามารถโอนย้ายได้ มีการกลั่นกรองงบประมาณโดยดูจากความจำเป็นเร่งด่วน ดังเช่น จำเป็นต้องขุดลอกคลอง เมื่อคปต.ดูงบประมาณปกติของกรมเจ้าท่าในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งมีทั้งที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดปัตตานี หากเห็นว่า ที่ปัตตานีสำคัญกว่า อาจขอให้นำของปัตตานีมาทำก่อน โครงการใดที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น การก่อสร้างโรงพยาบาล ซึ่งไม่เกี่ยวกับโครงการเมืองต้นแบบฯก็ชะลอไปก่อน เป็นต้น”

อีกประการ คือ ทำสิ่งที่ยังไม่มี หรือยังไม่เกิด ให้มี ให้เกิด โดยอาจขอรับการสนับสนุนพิเศษจากรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น กรณีการขยายถนนซึ่งใช้งบประมาณปกติดำเนินการได้ไม่มาก หาก คปต.เห็นว่า มีความจำเป็นอาจขออนุมัติงบกลางจากรัฐบาลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการได้

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า คปต.จะไม่ไปก้าวก่ายการทำงานของหน่วยงานราชการ ทำหน้าที่เป็นเพียงหน่วยสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพ และดำเนินการเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุดโดยจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคงฯ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ที่สำคัญของรัฐบาล คสช.

“ที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนโครงการสามเหลี่ยมมั่นคงฯให้เป็นรูปธรรม พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบฯขึ้น ภายใต้ คปต. โดยมอบหมายให้ ท่านสุวพันธ์ ตันยุวรรณะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด ท่านสุวพันธ์ ถูกโยกมานั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระหว่างนี้หากมีคำสั่งแต่งตั้งประธานคนใหม่อย่างเป็นทางการก็สามารถทำงานเชื่อมประสานกันได้ทันที” นายภาณุ กล่าวสรุปทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม 2560