‘ธานินทร์’ปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรี ขั้นตอนสืบราชสมบัติ‘หลัง7วัน15วันไปแล้ว’

25 ต.ค. 2559 | 07:00 น.
ความสับสนได้คลี่คลายและเข้ารูปเป็นลำดับ ทั้งการเตรียมการพระราชพิธี การร่วมแสดงความอาลัยของพสกนิกรในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องของการสืบราชสันตติวงศ์ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มีพระราชบัณฑูรขอให้ชะลอกระบวนการไว้ก่อน เพื่อใช้เวลาปรับพระทัยร่วมกับประชาชนในช่วงนี้ ทำให้รัฐบาลได้ออกมาชี้แจงอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ล่าสุดคณะองคมนตรีได้ประชุมและมีมติเลือกนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราว ซึ่งสำนักเลขาธิการทำเนียบองคมนตรี ได้มีหนังสือแจ้งมายังปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย กล่าวเมื่อบ่ายวันพุธที่ 19 ตุลาคมนี้ ว่า เมื่อประธานองคมนตรี คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต้องไปปฎิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 24 บัญญัติไว้ ว่าระหว่างที่ประธานองคมนตรีปฎิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวนั้น ไม่ให้ปฎิบัติหน้าที่ของประธานองคมนตรีด้วย แม้จะยังเป็นประธานองคมนตรีอยู่ก็ตาม และมาตรา 25 เขียนรองรับไว้ว่า กรณีที่เกิดเหตุเช่นนี้ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีขึ้นมาคนหนึ่ง มาปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

“เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา องคมนตรีได้ปรึกษาและเลือกนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ให้ปฎิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ไม่ใช่ให้เป็นประธานองคมนตรี และเมื่อถึงเวลาที่พล.อ.เปรม พ้นจากการปฎิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็สามารถกลับมาปฎิบัติหน้าที่ของประธานองคมนตรีตามปกติ โดยไม่ต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งใหม่

“เพราะฉะนั้นวันนี้พล.อ.เปรม มีตำแหน่งประธานองคมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรีไม่ได้เท่านั้นเอง และรัฐบาลได้รับแจ้งเรื่องนี้แต่แรกแล้ว และไม่ต้องมีการประกาศเช่นเดียวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

ส่วนเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา นับเป็นการประชุมครม.ปกติครั้งแรกนับแต่ในหลวงสวรรคต โดยแจ้งว่ามีข้อสั่งการ 10 ประการในที่ประชุมครม.

โดยในข้อ 10 เรื่องการสืบราชสันตติวงศ์นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎมณเฑียรบาลและจารีตประเพณี ขออย่าได้มีความลังเลสงสัยใด ๆ ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า เมื่อพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลผ่านพ้นช่วงเวลา 7 วัน 15 วัน ไปแล้วระยะหนึ่ง น่าจะได้เวลาอันสมควรที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 ต่อไป นั่นคือการแจ้งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อมีมติตามรัฐธรรมนูญ ระหว่างนี้ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนในส่วนเท่าที่จำเป็น ส่วนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ จะทรงลงพระปรมาภิไธยภายในกรอบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยจะไม่กระทบต่อปฏิทินการทำงานเป็นอันขาด

ส่วนข้อสั่งการที่เหลือ มีอาทิ 1.ขอบคุณทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ พลเรือน ทุกฝ่าย ที่ปฎิบัติหน้าที่ถวายพระเกียรติยศได้เรียบร้อย และช่วยกันดูแลประชาชน 2.หากหน่วยงานใดมีปัญหาให้แจ้งศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์(ศตส.)ที่ทำเนียบ โทร.1111 และ3.ขอความร่วมมือสถานีวิทยุ โทรทัศน์ จนถึง 13 พฤศจิกายน นี้ ให้เน้นเสนอรายการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและความประทับใจของประชาชน รายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เฉพาะช่วงเสด็จพระราชดำเนิน ที่เหลืออาจเสนอรายการปกติ แต่เน้นให้ความรู้ การพัฒนา มากกว่าบันเทิง

4.กำชับเจ้าหน้าที่จัดการจราจรให้เรียบร้อย 5.ให้ส่วนราชการเตรียมความพร้อม กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมการสร้างพระเมรุ โดยขอพระราชวินิจฉัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

6.ให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงการใช้ถ้อยคำออกพระนาม การใช้ภาษาที่เหมาะสม การแต่งกายการปฎิบัติเวลาเข้าถวายบังคมพระบรมศพ ตลอดจนการแจ้งความจำนงขอร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลถวาย 7.ย้ำรัฐบาลไม่เคยสั่งให้ถอดพระบรมฉายาลักษณ์ออก แต่อาจเปลี่ยนถ้อยคำข้อความให้เหมาะสม หากต้องเปลี่ยนเพื่อนำพระบรมฉายาลักษณ์ใหม่ติดตั้ง ให้ดำเนินการโดยต่อเนื่องไม่มีช่องว่าง

8.การจัดงานรื่นเริงบันเทิงต่าง ๆ ในช่วงเวลา 30 วันแรก (ถึง 13 พ.ย. 59) ให้พิจารณาตามความเหมาะสม โดยงดเฉพาะส่วนที่เป็นมหรสพหรือความบันเทิง แต่ยังสามารถจัดการประชุม งานแต่ง กฐิน ลอยกระทง งานบำเพ็ญกุศล หรือศาสนกิจตามประเพณี การเลี้ยงหรือชุมนุมสังสรรค์ที่ทำในอาคาร และเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มตามที่จัดเป็นปกติ หรือได้เตรียมการไว้แล้ว ให้จัดได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความรู้สึกประชาชนเป็นหลัก และ 9. ให้ระมัดระวัง กวดขัน และขอความร่วมมือประชาชนอย่าเผยแพร่ต่อเด็ดขาด ภาพหรือข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือยุยงให้เกิดความแตกแยก อันเป็นการสะเทือนจิตใจชาวไทยในยามนี้อย่างยิ่ง นอกจากจะเป็นการเหยียบย่ำจิตใจคนไทยแล้ว ยังผิดกฎหมายอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559