ศก.ใต้คึกรัฐชูสิทธิพิเศษแบบ‘เอ็กซ์ตร้า’ ปั้น ‘สตาร์ตอัพ’-ลดภาษีลงทุนในพื้นที่

05 ต.ค. 2559 | 04:30 น.
ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ครั้งล่าสุด (27 ก.ย.59) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)ออกตามความในประมวลรัษฎากร รวม 3 ฉบับ เกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้สิทธิประโยชน์แบบ "เอ็กซ์ตร้า" (Extra) สร้างความคึกคักให้กลุ่มผู้ประกอบการไม่น้อย

สำหรับร่างกฤษฎีกาทั้ง 3 ฉบับนี้ ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ...เพื่อส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์สินของกิจการในท้องที่ 2.ร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ (New Start-up) ในท้องที่ และ3.ร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ...เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรผู้มีความสามารถสูงนอกท้องที่ไปทำงานในท้องที่และส่งเสริมการลงทุน

 เปิดหลักเกณฑ์จูงใจนักลงทุน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขยายความว่า จากข้อเสนอของภาคเอกชนต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแผนงานภายใต้เมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน" และยุทธศาสตร์ "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" กระทรวงการคลังเห็นควรกำหนดมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และการจ้างงาน รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อันเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเร่งแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้สำหรับท้องที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา

มาตรการแรก คือ การส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์สินของกิจการในท้องที่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพิ่มในท้องที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดให้บริษัทซึ่งมีสถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถหักรายจ่ายการลงทุน การต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้า หรือการขายสินค้า หรือการให้บริการได้เป็นจำนวน 2 เท่า โดยรายจ่ายดังกล่าวนั้นจะต้องจ่ายตั้งแต่วันที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

2. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่หรือ New Start Up เพื่อส่งเสริมให้เกิดมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีในจังหวัดชายแดนใต้ โดยจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นระยะเวลา 5 รอบบัญชี โดยบริษัทดังกล่าวจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 31 ธันวาคม 2563 มีทุนชำระแล้วในรอบสุดท้ายของระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาท โดยรายได้ดังกล่าวนั้นจะต้องมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น้อยกว่า 80%

3. การส่งเสริมให้บุคลากร ผู้มีความสามารถสูงนอกพื้นที่ไปทำงานในท้องที่และส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกท้องที่กับกิจการที่มีศักยภาพในท้องที่ โดยกำหนดให้บุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่ประกาศกำหนดมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้ที่ได้รับจากการจ้างงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และสำหรับบริษัทที่อยู่นอกท้องที่สามารถหักเงินรายจ่ายลงทุนในหุ้นของบริษัทที่อยู่ในจังหวัดชายแดนใต้เป็นจำนวน 2 เท่า

อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จำนวนหนึ่งแต่เป็นจำนวนที่ไม่มาก และจะถูกชดเชยด้วยการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

  "บิ๊กตู่"กล้าขอ กล้าให้

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เล่าย้อนความให้ฟังว่า มติ ครม.ครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมร่วมกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับส่วนราชการ ภาคเอกชน และศูนย์อำนวยการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่จังหวัดนราธิวาส ก่อเกิดแผนพัฒนาพื้นที่เชิงเศรษฐกิจ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ใน 3 เมืองต้นแบบ คือ อำเภอหนอกจิก จังหวัดปัตตานี (เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตร) อำเภอเบตง จังหวัดยะลา (เมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน) และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส (ศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ)

"ในวันนั้นนักธุรกิจในพื้นที่เสนอขอสิทธิประโยชน์มาหลายประการ ซึ่งท่านนายกฯ และดร.สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้สอบถามว่า หากให้ตามข้อเสนอต่างๆที่ขอนี้จะลงทุนเพิ่มจริงหรือไม่ ซึ่งทุกคนยืนยันว่า อยากได้ ถ้าให้ก็จะลงทุนเพิ่ม

รองนายกฯจึงรับนโยบายจากท่านนายกฯที่ให้รับข้อเสนอทั้งหมดมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูว่าจากเดิมที่มีสิทธิประโยชน์ให้กับบริษัท นิติบุคคล และบุคคลธรรมดาในการไปประกอบกิจการ หรือถูกจ้างงาน ซึ่งมีสิทธิประโยชน์อยู่แล้วนั้น การให้สิทธิประโยชน์ในครั้งนี้ รัฐบาลจึงให้แบบเอ็กซ์ตร้า (Extra) ให้มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อจูงใจให้ทั้งบุคคลและนิติบุคคลเข้าไปลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น" พล.ต.สรรเสริญ กล่าวย้ำ

 หนุน "สมคิด" นั่ง ครม.ส่วนหน้า

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักลงทุนในพื้นที่ แหล่งข่าวรายหนึ่ง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ยืนยันว่า มีกลุ่มนักลงทุนที่สนใจเตรียมเข้ามาลงทุนในพื้นที่แล้ว แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ 1.กลุ่มนักลงทุนจีนแผ่นดินใหญ่ –มาเลย์ ที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนกับนักลงทุนไทยเพื่อประกอบกิจการต่างๆ อาทิ ในธุรกิจยางแปรรูป 2.กลุ่มทุนจีนแผ่นดินใหญ่ที่สนใจเกษตรแปรรูปโดยใช้วัตถุดิบและแรงงานในท้องถิ่น อาทิ แปรรูปทุเรียน และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น และ 3.นักลงทุนในพื้นที่เอง

อย่างไรก็ดี ต่อกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะตั้งคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล หรือ ครม.ส่วนหน้า เพื่อทำงานกำกับดูแลสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยสามารถรายงานตรงกับนายกรัฐมนตรีนั้น แหล่งข่าวรายนี้สะท้อนความเห็นว่า ส่วนตัวอยากได้ผู้ที่เข้าใจความต้องการของภาคเอกชนหรือนักลงทุนอย่างดีเหมือนเช่นที่ ดร.สมคิด เข้าใจ ทั้งนี้ ในห้วงเวลาที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนใต้นี้ คาดหวังว่า อย่างน้อยที่สุด 80-90 % ของผู้ที่เข้ามาจะเข้าใจความต้องการของภาคเอกชน เหมือนอย่างที่รองนายกฯสมคิดเข้าใจ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559