ชดใช้จำนำข้าว8.17หมื่นล. บรรทัดฐานใหม่นโยบายพรรคการเมือง

29 ก.ย. 2559 | 02:00 น.
ดาหน้าตอบโต้กันแล้ว เมื่ออดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จี้ตรง"บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ยกกรณีอื้อฉาวเมียและลูกของพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา เป็นตัวเทียบ ว่า"ปกป้องน้อง" ผสมโรงการขับเคลื่อนทั้งเครือข่ายพรรคเพื่อไทย หลังจากขั้นตอนการออกคำสั่งทางปกครอง ให้ชดใช้ความเสียหายคดีรับจำนำข้าว ทั้งกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินมาถึงขั้นตอนช่วงท้ายแน่ชัดแล้ว รวมถึงล่าสุดเดินเครื่องยื่นสอบนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีพาณิชย์ ข้องใจรายการทรัพย์สินที่แจ้งอัญมณีที่"พี่ชายมอบให้" เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ต่อเนื่องจากที่ขับเคลื่อนเครือข่ายทั้งพรรคเพื่อไทยออกมาเขย่ารัฐบาล จนอุณหภูมิการเมืองเริ่มระอุ

[caption id="attachment_101861" align="aligncenter" width="700"] ใครติดบ่วง ใครต้องชดใช้โครงการรับจำนำข้าวยุค "ยิ่งลักษณ์" ใครติดบ่วง ใครต้องชดใช้โครงการรับจำนำข้าวยุค "ยิ่งลักษณ์"[/caption]

 ภาครัฐโต้ทันควัน"ไม่ทำผิด157"

ขณะที่รัฐบาลก็ยืนเรียงแถวยัน ตั้งแต่หัวแถว คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลงมาย้ำ ไม่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง เป็นเรื่องขั้นตอนทางกฎหมาย เมื่อหน่วยงานตรวจสอบเสนอมาก็ต้องดำเนินการ หากไม่ทำต้องรับผิดตามม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เสียเอง ก่อนย้อน"จะไม่ยอมเข้ากระบวนการกันเลยหรือไง" ขณะที่วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ก็แจงสื่อเป็นรายวัน ย้ำรัฐบาลไม่ได้ใช้คำสั่งตามม.44 ไปยึดทรัพย์ แต่หากมีคำวินิจฉัยว่าผิดตามกฎหมายความรับผิดทางละเมิด และสรุปว่าผิดต้องจ่ายเงินชดใช้เท่าใด ถ้าไม่จ่ายก็จะไปดำเนินการ ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่กระทรวงที่รับผิดชอบ แต่ไม่เชี่ยวชาญ คำสั่งตามม.44 จึงให้กรมบังคับคดีไปจัดการ เว้นแต่ไปฟ้องศาลให้คุ้มครองชั่วคราว

ที่เขย่าขวัญต่อคือ เริ่มแพลมกันแล้วว่า ค่าเสียหายอีก 1.42 แสนล้านบาท หรือ 80% ที่เหลือจากที่เรียกให้อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ชดใช้ หน่วยงานที่เสียหายต้องไปสืบสวนไล่เบี้ยผู้เกี่ยวข้องต่อ ไล่ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับเฝ้าโกดัง ผู้ตรวจสอบ เอกชน ไล่ขึ้นมาถึงรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ จนหนาวไปทั้งวงการว่าใครจะเจอแจ๊กพอต ขณะที่อุณหภูมิการเมืองเริ่มคุกรุ่น

 เส้นทางวิบากจำนำข้าว

โครงการรับจำนำข้าว เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยเมื่อได้ตั้งรัฐบาลก็เดินหน้าทันที แม้มีกระแสทักท้วงว่าจะเกิดผลเสีย ต่อมากระแสปะทุอีกครั้ง ในช่วงที่อนุฯปิดบัญชีที่มี “สุภา ปิยะจิตติ” จากกระทรวงการคลัง จะสรุปตัวเลขผลขาดทุนทางบัญชี จนเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างข้าราชการคลัง-พาณิชย์ ด้านรัฐบาลมอบ “วราเทพ รัตนากร” เป็นคนกลางเคลียร์ตัวเลข และที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว ก็รับรองตัวเลขขาดทุนปีแรก 1.369 แสนล้านบาท
ตัวเลขยอดใช้จ่ายและผลขาดทุนของอนุฯปิดบัญชี กลายเป็นแรงกดดันมหาศาลต่อโครงการรับจำนำข้าวต่อ ๆ มา เมื่อปรากฏว่าแสดงตัวเลขพุ่งทะยานขึ้นไม่หยุดยั้ง พร้อมกับที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) มีหนังสือแจ้งรัฐบาลถึงภาระต่องบประมาณของประเทศ ควบคู่กับการระบายข้าวจีทูจี ที่กระทรวงพาณิชย์โชว์เป็นผลงานต่อเนื่อง แต่เมื่อถูกสื่อจี้ถามรายละเอียดก็ปิดปากเงียบ อ้างเป็นความลับทางการค้า ยิ่งทำให้โครงการอยู่ในความอึมครึม

กระทั่งหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกมวลชนกปปส.กดดันหนักหน่วงจนประกาศยุบสภาเมื่อต้นปี 2557 ขณะที่ยังไม่ได้เตรียมเม็ดเงินให้ธ.ก.ส.ไปรับจำนำข้าวในฤดูกาลผลิต 2556/2557 ข้าราชการกระทรวงการคลังไม่กล้าทำสัญญากู้เงินมาให้ เพราะไม่มั่นใจว่ารัฐบาลรักษาการมีอำนาจหรือไม่ ชาวนาไม่ได้เงินจนฆ่าตัวตายไปหลายราย กระทั่งคสช.เข้าควบคุมอำนาจปกครองประเทศ สั่งให้เคลียร์หนี้ชาวนาที่คงค้างหลายหมื่นล้านบาทเป็นงานแรก และสั่งปิดโครงการรับจำนำข้าว

ขณะที่มีผู้ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวที่ป.ป.ช. จนได้ข้อสรุปชี้มูลความผิดส่งอัยการสูงสุดเพื่อสั่งคดีฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว 2 คดี และยังมีที่อยู่ระหว่างไต่สวนอีกจำนวนหนึ่ง (ดูตารางประกอบ)

 สั่งทางปกครองชดใช้ความเสียหาย

ควบคู่กันนั้นก็มีกระแสเรียกร้องให้เรียกคืนความเสียหาย จากที่อนุฯปิดบัญชีสรุปผลขาดทุนเป็นระยะ มีตัวเลขการขาดทุนเพิ่มเป็นลำดับ โดยตัวเลขถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โครงการรับจำนำข้าวยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ 4 โครงการ ขาดทุน 5.1 แสนล้านบาท

ช่วงแรกเมื่อมีกระแสเรียกร้องให้ฟ้องทางแพ่งให้ชดใช้ นายวิษณุระบุรัฐจะมีภาระค่าเงินวางศาลมหาศาล เป็นสัดส่วนตามยอดเงินที่ขอให้ชดใช้ จนถูกตำหนิ แต่ต่อมาเสนอใช้ช่องทางออกคำสั่งทางปกครองตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539 แทน สำหรับนักการเมืองและข้าราชการ ส่วนเอกชนหากทำความเสียหาย ให้ฟ้องทางแพ่งเรียกชดใช้ต่อไป

ในคดีระบายข้าวจีทูจีเก๊ คณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด สรุปตัวเลขเสนอคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง มีอธิบดีกรมบัญชีกลาง ตรวจสอบอีกชั้น มีผลสรุปว่า ให้นายบุญทรงและพวก รวม 6 คน ต้องชดใช้ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนเอกชน 21 คนที่ร่วมเป็นจำเลยในคดีนั้น ได้ยื่นศาลฎีกาฯ ขอเพิ่มคำฟ้องให้สั่งชดใช้ 2.6 หมื่นล้านบาทแล้ว

ส่วนคดีละเลยให้โครงการรับจำนำข้าวเกิดความเสียหายของนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น คณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด มีนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกฯเป็นประธาน สรุปตัวเลขจะเรียกให้ชดใช้ 2.86 แสนล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งของกรมบัญชีกลาง สรุปสุดท้าย คิดความเสียหายเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวปี 2555/2556 และ2556/2557 หลังจากสตง.แจ้งว่าจะเกิดความเสียหายแล้วยังปล่อยให้ทำต่อ เป็นเงิน 1.78 แสนล้าน โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ 20% หรือ 3.57 หมื่นล้านบาท รวม 3 กรณีถ้าถึงที่สุดเรียกให้ชดใช้ตามเสนอ จะรวมกันเป็นเงิน 8.17 หมื่นล้านบาท

ตามขั้นตอนเมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบมีคำสั่งทางปกครองแจ้งผู้ต้องรับผิดชอบแล้ว ให้เวลาชดใช้ 30 วัน หากถึงกำหนดยังเพิกเฉย จะมีหนังสือเตือนโดยให้เวลาอีก 15 วัน เมื่อพ้นกำหนดจะเข้าบังคับยึดอายัดทรัพย์ต่อไป เว้นแต่ผู้ถูกร้องจะนำเรื่องไปฟ้องศาลปกครองและขอคุ้มครองชั่วคราว จึงจะรอคำสั่งศาลต่อไป หากศาลพิพากษาว่าคำสั่งถูกต้องแล้ว ก็จะขอบังคับคดีโดยให้กรมบังคับคดีไปดำเนินการต่อไป

 การเมืองคุกรุ่น

การยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทจาก"ทักษิณ ชินวัตร"ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานร่ำรวยผิดปกติ ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง เมื่อต้นปี 2552 นั้น ตามมาด้วยการประกาศรวมพล"แดงทั้งแผ่นดิน"ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน และซ้ำอีกครั้งในปีรุ่ง

แต่คราวนี้แม้พลพรรคเพื่อไทยจะดาหน้าออกโรงต้าน แต่ทำได้อย่างจำกัด เพราะแกนนำเพื่อไทยตามหัวเมืองถูกบล็อกไว้หมด การประชุมพรรคก็ยังทำไม่ได้ เครือข่ายคนเสื้อแดงก็ขยับไม่ออก เมื่อระดับหัวไม่ว่าจะเป็น"จตุพรพรหมพันธุ์-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ติดบ่วงคดี และกำลังถูกเลื่อนฟังคำสั่งศาลที่มีผู้ร้องให้ถอนประกันในต้นเดือนตุลาคมนี้ ด้าน"วัฒนา เมืองสุข"ไม้เบื่อไม่เมาคสช.ก็กำลังจะถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีบ้านเอื้ออาทร

ขณะที่"กิตติรัตน์ ณ ระนอง-ยรรยง พวงราช" อดีตแกนนำรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ร่วมบริหารและปกป้องโครงการรับจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ แต่คราวนี้กลับเงียบหายผิดสังเกต เหลือแต่เครือข่ายส่วนตัวและคนใกล้ชิดจริงเท่านั้นที่ยังขยับกันอยู่
หรือนี่จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของนักการเมือง ที่ต้องเสนอนโยบายอย่างสมเหตุสมผล และระวังถึงผลเสียหายที่จะตามมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,196
วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559