ดันงานวิจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปลดล็อกเกณฑ์ขึ้น‘บัญชีนวัตกรรมไทย’

29 ก.ย. 2559 | 09:30 น.
ถนนทุกสายมุ่งไปสู่การเป็น "ไทยแลนด์ 4.0" งานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่เคยถูกวางอยู่ "บนหิ้ง" หรือ "เก็บใส่ลิ้นชัก" ไม่ได้นำมาพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์ให้เป็นนวัตกรรมที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม วันนี้ถูกยกให้เป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว

จากข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สรุปภาพรวมงบประมาณการวิจัยของหน่วยงานภาครัฐที่มีการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2557 มีหน่วยงานภาครัฐระดับกรมจัดส่งข้อเสนอการวิจัยเพื่อประกอบการเสนอของบประมาณประจำปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านการประเมินผลข้อเสนอการวิจัยโดยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติให้สมควรได้รับการสนับสนุนจำนวน 4,466 โครงการ งบประมาณ 4,569.97 ล้านบาท คิดเป็น 67.57 % ของงบประมาณที่หน่วยงานภาครัฐเสนอขอมาทั้งหมด ครอบคลุมทั้งด้านการเกษตร โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว สุขภาพและชีวเวชศาสตร์ อาหาร พลังงาน การจัดการน้ำ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เป็นต้น

ตอกย้ำความเอาจริงเอาจังต่อเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จัดตั้ง"คณะกรรมการการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ" (คพน.) นั่งเป็นประธานขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยตัวเอง มีอนุกรรมการอีก 4 ชุด คือ 1.คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทย 2.คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการสร้างตลาดนวัตกรรมในหน่วยงานของภาครัฐ 3.คณะอนุกรรมการกำหนดความต้องการของภาครัฐที่ใช้นวัตกรรมไทย และ 4.คณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 1% ของจีดีพี และกำหนดสัดส่วนระหว่างค่าใช้จ่ายในการลงทุนภาครัฐกับเอกชน 70:30

ก่อนเปิดช่องทางพิเศษให้ผลงานวิจัยที่เข้าเงื่อนไข หลักเกณฑ์ขึ้น"บัญชีนวัตกรรมไทย" โชว์อยู่ใน แค็ตตาล็อก ของสำนักงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่ต้องการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใดๆจากรายการบัญชีนวัตกรรมไทยที่มีอยู่นี้ก่อน ให้หน่วยงานรัฐได้พิจารณาเลือกใช้ของคนไทยกันเองเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

เมื่อดูนิยามของคำว่า "นวัตกรรมไทย" หมายถึง ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่พัฒนาขึ้นจากกระบวนการวิจัย พัฒนา หรือการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิมด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย โดยคนไทยมีส่วนร่วม ซึ่งอาจเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่มีอยู่แล้วก็ได้

ทั้งนี้ นวัตกรรมไทยต้องผ่านการทดสอบและรับรองโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้ จุดนี้เองที่กลายเป็นกำแพงสำคัญต่อการขอขึ้น"บัญชีนวัตกรรมไทย"

กำหนดเงื่อนไข แต่ไม่สร้างกลไกมารองรับ

แหล่งข่าวรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลักเกณฑ์เงื่อนไขการขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมได้นั้นต้องมีคุณสมบัติสำคัญ คือ 1.ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ขอขึ้นทะเบียนต้องเป็นผลมาจากงานวิจัยหรือการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญโดยสถาบันวิจัยไทย สถาบันการศึกษาของไทย หรือภาคเอกชนไทย 2.เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และมีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51%

3.ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ขอขึ้นทะเบียนต้องผ่านการรับรองมาตรฐานบังคับของผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ (ถ้ามี) 4.ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ขอขึ้นทะเบียนต้องผ่านการทดสอบคุณภาพตามที่ระบุในเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ รวมถึงต้องผ่านการทดสอบคุณภาพตามที่ระบุในเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ รวมถึงต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยในการใช้งานและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานวิเคราะห์ทดสอบที่เชื่อถือได้

"น่าสนใจว่า ในประเทศไทยเรามีหน่วยงานที่รองรับเรื่องเหล่านี้อยู่หรือไม่ ในฐานะนักปฏิบัติเราพบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่มีหน่วยงานไหนที่ทำหน้าที่วิเคราะห์และทดสอบได้ ก็ต้องส่งไปทดสอบมาตรฐานที่ต่างประเทศให้รับรองมาตรฐานให้

ขณะที่สิ่งประดิษฐ์บางชิ้นผ่านการทดสอบ และการใช้จริงจากหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ ยกตัวอย่างเช่น หน่วยงานของรัฐใช้มาระยะเวลาหนึ่งแล้วย่อมการันตีคุณภาพ เพียงพอที่จะยกสถานะให้สิ่งประดิษฐ์ หรือผลงานชิ้นนั้น ได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมได้หรือไม่ หรือให้ขึ้นบัญชีไปก่อน แล้วสอยลง ตัดออกจากบัญชี เมื่อใช้งานไปแล้วเกิดปัญหา ซึ่งผมเชื่อว่า ไม่มีหน่วยงานไหน หรือใครที่จะเอาชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือของตนเองมาเสี่ยงกับเรื่องแบบนี้

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559