เล็งออกกฎกระทรวงคุมต่างด้าว จัดระเบียบนายจ้างอยู่ในกรอบ

30 ก.ย. 2559 | 04:30 น.
กรมการจัดหางานพร้อม เตรียมออกประกาศกระทรวงแรงงาน รับพ.ร.ก.ใหม่ นำคนต่างด้าวมาทำงานต้องวางเงินประกัน 5 ล้านบาท "อารักษ์"ชี้วางกติกาเพื่อจัดระเบียบ ป้องกันลอบขนแรงงานผิดกฎหมายเข้าเมือง ย้ำหัวใจอยู่ที่นายจ้างต้องอยู่ในกรอบ

ตามที่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ได้ลงประกาศในราชกิจจามีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าแรงงานต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อีกเป็นเวลา 60 วัน ระหว่างการปรับตัวให้เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายใหม่นี้ นั้น

นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ช่วงระยะเวลาผ่อนผัน 60 วันจะครบกำหนดในราวกลางเดือนตุลาคม โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างยกร่างประกาศกระทรวง เพื่อกำหนดรายละเอียดวิธีปฏิบัติขึ้นมารองรับบทบัญญัติตามพ.ร.ก.ดังกล่าวข้างต้นแล้ว และจะเสนอให้ทางกระทรวงพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไปได้ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศให้เหมาะสม และป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำลูกจ้างที่เป็นคนต่างด้าว มาทำงานกับนายจ้างในประเทศโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งเสริมสร้างการให้ความคุ้มครองผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ได้รับความเป็นธรรมตามกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ

สาระสำคัญคือ กำหนดให้การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ทำได้ 2 กรณี 1.นายจ้างเป็นคนนำคนต่างด้าวมาทำงานด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องวางเงินประกันกับทางราชการตามอัตราที่กำหนด 2.ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.ก.นี้ เป็นคนนำคนต่างด้าวมาทำงาน ซึ่งจะต้องมีการวางเงินประกันการประกอบธุรกิจเป็นเงินไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท โดยกระบวนการขั้นตอนการนำคนต่างด้าวมาทำงาน ต้องเป็นไปตามที่ทางราชการกำหนด

นายอารักษ์กล่าวด้วยว่า กฎหมายนี้ยังกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบกิจการ เรียกค่าตอบแทนซึ่งเป็นค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากนายจ้างเท่านั้น ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการกระทำผิดสัญญาในการนำเข้าคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ สามารถหักเงินจากหลักประกัน ที่ผู้ประกอบกิจการวางไว้กับอธิบดีกรมการจัดหางาน คืนนายจ้างได้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการและนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบคนต่างด้าวที่นำเข้ามาทำงานในประเทศร่วมกัน โดยมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมแก่คนต่างด้าว นายจ้าง รวมถึงจัดระเบียบผู้ประกอบกิจการในประเทศไทยอีกด้วย

"ที่ผ่านมาคนต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยไม่ถูกต้องมีปัญหามาก ทั้งปัญหาการได้รับผลตอบแทนหรือสวัสดิการต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เพราะอยู่นอกระบบ หรือเมื่อถูกจับกุมบังคับคดีทั้งตัวแรงงานต่างด้าว และนายจ้างหรือผู้ประกอบการ กว่าคดีจะเสร็จสิ้นหรือยุติ แรงงานต่างด้าวเองไม่มีหลักประกันอะไรเลย เมื่อมีกองทุนขึ้นมาหากมีปัญหาก็สามารถใช้เงินจากกองทุนไปชดเชยหรือเยียวยาได้"

ทั้งนี้ อธิบดีกรมการจัดหางานย้ำว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่นายจ้างที่ว่าจ้างแรงงานคนต่างด้าว หากร่วมมือกันทำตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ ทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหา

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559