ทำความรู้จัก "โรคหูดับ" อันตรายถึงชีวิต

23 มิ.ย. 2564 | 07:20 น.

ทำความรู้จักกับ "โรคหูดับ" เชื้อแบคทีเรียในสุกร ใครชอบกินเนื้อหมูดิบ เสี่ยงหูหนวกถาวร อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคหูดับ หรือ โรคไข้หูดับ ที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้หลังปรากฏข่าวว่า มีอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเสียชีวิตเนื่องจากใช้มือที่เป็นแผลหั่นหมูเพื่อทำหมูกะทะทำให้เชื้อเข้าไปในกระแสเลือด กระทั่งป่วยเป็นไข้หูดับและเสียชีวิต ฐานเศรษฐกิจ พาไปทำความรู้จักกับโรคนี้กัน โดยศูนย์โรคติดเชื้อโรงพยาบาลสินแพทย์ได้เผยแพร่ข้อมูลเอาไว้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ให้ความรู้ของ "โรคหูดับ" นี้ไว้ ดังนี้

โรคหูดับ หรือ โรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) เป็นโรคที่เกิดในสุกร เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปกติจะอยู่ในสุกรเกือบทุกตัว ฝังอยู่ในต่อมทอนซิลของสุกรแต่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอ เครียด หรือ ป่วย โรคจะไปกดภูมิคุ้มกัน แบคทีเรียตัวนี้จะเพิ่มจำนวนและทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและทำให้หมูป่วย และตายได้

โรคหูดับ สามารถเข้าสู่ร่างากยของคนได้ 2 ทาง คือ

1.การบริโภคเนื้อสุกร เครื่องในสุกร หรือ เลือด ที่ไม่ผ่านการทำให้สุก เช่น ลาบ ลู่ ปิ้งย่างที่ไม่สุก

2.ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จากการสัมผัสโรค หรือ สุกรที่เป็นโรค

อาการของผู้ป่วยโรคหูดับ 

ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วภายใน 3 วันจะมีอาการ ดังนี้

  • มีไข้สูง
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • ปวดศีรษะ
  • เวียนศีรษะ
  • ปวดตามข้อ
  • มีจ้ำเลือดตามตัว ตามผิวหนัง
  • ซึม
  • คอแข็ง
  • ชัก
  • มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึก 

เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และ กระแสเลือด

  • ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ข้ออักเสบ
  • ม่านตาอักเสบ

และเนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับประสาทหูชั้นในทั้งสองข้างเชื้อจึงสามารถลุกลามจึงทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้ 

  • เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และ ปลายประสาททรงตัว
  • ทำให้หูตึง หูดับ
  • จนกระทั่ง หูหนวก
  • เวียนศีรษะ และ เดินเซตามมาได้

อาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วันหลังจากเริ่มมีอาการไข้และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีผู้ป่วยจะเสียการได้ยิน และอาจเสียชีวิตในเวลาต่อมา

การป้องกัน โรคหูดับ

  • ไม่รับประทานเนื้อหมูที่ไม่สุก
  • ไม่กินหมูป่วย หรือ หมูที่ตายจากโรค และ ควรเลือกบริโภคหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน
  • สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต ถุงมือ เพื่อป้องกันการสัมผัสโรคจากกุกรที่ป่วย
  • ล้างมือ ล้างเท้า หรือ อาบน้ำให้สะอาดหลังสัมผัสสุกร
  • เมื่อมีแผลต้องระวังในการสัมผัสสุกร
  • กำจัดเชื้อจากฟาร์ม ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้สุกรป่วย

ข้อมูลจากโรงพยาบาลสินแพทย์ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง