ครม.เคาะ “ม.นเรศวร” ออกนอกระบบ-ไม่ต้องส่งรายได้เข้าคลัง  

02 มี.ค. 2564 | 10:55 น.

ครม.อนุมัติ “ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนเรศวร” เตรียมออกนอกระบบ-จัดซื้อจัดจ่างได้เอง-ไม่ต้องส่งรายได้เข้าคลัง ส่วนพนง.-เจ้าหน้าที่ รายได้ต้องไม่แย่กว่าเดิม

มีความคืบหน้าในการเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบของ “มหาวิทยาลัยนเรศวร” ซึ่งปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก แต่อนาคตกำลังเป็น "สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ" หรือที่เรียกว่า “มหาวิทยาลัยนอกระบบ”

คือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีการบริหารการจัดการอิสระแยกจากระบบราชการ (autonomous university) แต่ยังได้รับเงินอุดหนุนทั่วไป (block grant) ที่รัฐจัดสรรให้เป็นรายปีโดยตรง เพื่อใช้จ่ายตามความจำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย และเพื่อประกันคุณภาพการศึกษา

โดยเรื่องนี้ นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 2 มีนาคม 2564  ว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

นอกจากนี้ ครม.ยังให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย พร้อมกันนี้ยังรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. .... ระบุว่า เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่เป็นส่วนราชการ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ (สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ) ที่ยังคงมีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการ อว. และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ และกฎหมายอื่น รายละเอียด ดังนี้

1. กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น

2. กำหนดให้กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้รับการคุ้มครองและประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

3. กำหนดให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่กระทำการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น อำนาจในการซื้อ ขาย จ้าง รับจ้าง สร้าง จัดหา โอน รับโอน เช่า ใช้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ จำหน่าย และแลกเปลี่ยน หรือทำนิติกรรมใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่กิจการของมหาวิทยาลัย ตลอดจนถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง มีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ  ในทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย อำนาจในการกู้ยืมเงินและให้กู้ยืมเงิน โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สิน ถือหุ้น เข้าเป็นหุ้นส่วน และลงทุนหรือร่วมลงทุน และอำนาจในการออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และอำนาจในการกำหนดค่าตอบแทนหรือค่าตอบแทนพิเศษ รวมทั้งสวัสดิการสิทธิประโยชน์ และประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย

4. กำหนดให้รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐหรือกฎหมายอื่น

5. กำหนดให้ทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยที่ใช้เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษา การวิจัย การให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ และการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมโดยตรงไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีทั้งปวง รวมทั้งการบังคับทางปกครอง บุคคลใดจะยกอายุความหรือระยะเวลาในการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับมหาวิทยาลัยในเรื่องทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยมิได้

6. กำหนดให้มีสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย กำหนดการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยทั้งด้านการบริหารงาน บุคคล การเงิน และวิชาการ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยมากกว่าบุคลากรในมหาวิทยาลัย โดยนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหรือได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้

7. กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย และอาจมีรองอธิการบดี หรือผู้ช่วยอธิการบดี หรือจะมีทั้งรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีตามจำนวนที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมายก็ได้ โดยอธิการบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีและจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระมิได้

8. กำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องจัดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินส่วนงานเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และต้องจัดให้มีการตรวจสอบระบบบัญชี และให้มีการเผยแพร่บัญชีที่ได้รับรองแล้วในรายงานประจำปี รวมทั้งกำหนดให้รัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย

9. กำหนดให้โอนบรรดาข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างของมหาวิทยาลัยนเรศวรตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2533 และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มาเป็นข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย และลูกจ้างของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้

10. กำหนดเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนสถานภาพข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดยกำหนดให้ต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แต่หากข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ซึ่งมิได้รับการบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย ให้ยังคงสถานะความเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของส่วนราชการต่อไปตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการนั้น

11. กำหนดให้พนักงานของมหาวิทยาลัยและลูกจ้างของมหาวิทยาลัยต้องได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่ก่อนเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย