ผ่าแผนหลังไทยจองซื้อวัคซีนโควิด-19 จาก "แอสตร้าเซนเนก้า"

28 พ.ย. 2563 | 21:20 น.

"อนุทิน" เผย แนวทางดำเนินการ หลังไทยจองซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จาก “แอสตร้าเซนเนก้า”

หลังจากที่ กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ลงนามจองซื้อและซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 26 ล้านโดสจาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถคัดกรอง คัดแยก ควบคุม กักกัน และรักษาโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี เหลือเพียงการมีวัคซีนเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนไทยมีวัคซีนโควิด 19 ใช้เป็นประเทศต้นๆของโลก

 

สิ่งที่จะดำเนินการต่อภายหลังการลงนาม คือ การเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และแอสตร้าเซนเนก้า โดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่มีศักยภาพในการผลิตยาชีววัตถุอยู่แล้วจะเป็นผู้รับการถ่ายทอดเพื่อผลิตวัคซีนให้ได้ตามมาตรฐาน

 

จากนั้นจะยื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ กรมควบคุมโรค จะเป็นผู้กระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่อไป

 

“ข้อดีของการลงนามกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า คือ การได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาด้วย หากซื้ออย่างเดียวเราก็ต้องซื้อตลอดไปแต่การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถผลิตได้เอง อย่างวัคซีนที่จองซื้อก็จะเป็นการผลิตภายในประเทศด้วย ทำให้ช่วยลดค่าขนส่ง รวมถึงสามารถผลิตวัคซีนอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีเดียวกันได้ ถือเป็นความมั่นคงของประเทศด้านวัคซีน คาดว่า จะผลิตออกมาได้ในช่วงกลางปี 2564” นายอนุทิน กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปิด!บิ๊กคลีนนิ่ง "เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่" หลังสาวติดโควิดเดินช็อป

แฮกเกอร์แสบโสมแดงลอบเจาะฐานข้อมูลบริษัวัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า"

เปิด Timeline  ผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 5 ราย

เปิดไทม์ไลน์ สาวเชียงใหม่ป่วยโควิด-19

 

ทั้งนี้ การลงนามกับ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในครั้งนี้ นายอนุทิน ยืนยันว่า ได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า เกิดประโยชน์ และไม่ได้เป็นการลงนามสัญญาร่วมกับบริษัทที่บกพร่องในการทดลองตามกระแสข่าวลือแต่อย่างใด โดยผลการทดลองในมนุษย์ระยะ 3 เบื้องต้นพบว่า การฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวนครึ่งโดส ครั้งที่ 2 จำนวน 1 โดส มีประสิทธิผล 90 % ขณะที่การฉีด 2 ครั้ง ครั้งละโดส มีประสิทธิผล 60 % แต่ถือว่า เกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด คือ เกินกว่า 50 %  อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามประสิทธิผลของวัคซีนในระยะยาวต่อไปด้วย

 

ส่วนสาเหตุที่ไม่รอให้ได้ผลการทดลองเสร็จสิ้นแล้วค่อยจองซื้อนั้น เนื่องจากหากรอผลก็จะทำให้การผลิตล่าช้าไปอีก 8-9 เดือน แต่การจองซื้อและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีก่อน เมื่อผลการทดลองออกมาดีก็สามารถผลิตและนำมาฉีดให้แก่ประชาชนได้ทันที นอกจากนี้ยังมีอีก 95 ประเทศทั่วโลกที่จองซื้อรวมกว่า 3 พันล้านโดส หากรอให้ถึงวันที่วิจัยทดลองสำเร็จแล้วค่อยซื้อก็อาจไม่สามารถซื้อได้

 

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ลงนามร่วมกับ แอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากการจัดเก็บวัคซีนใช้อุณหภูมิที่ 2-8 องศาเซลเซียส ไม่แตกต่างจากวัคซีนชนิดอื่น ทำให้สามารถจัดเก็บได้สะดวก บุคลากรมีความชำนาญ การผลิตในไทยช่วยประหยัดค่าขนส่งได้กว่า 100 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนต้านโควิดซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2563 อย่างไรก็ดี คาดว่า จะเป็น บุคลากรทางการแพทย์ เพราะเป็นกลุ่มที่หากติดเชื้อจะกระทบระบบสาธารณสุขซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีผู้ดูแลผู้ป่วย อีกกลุ่ม คือ ผู้ที่ติดเชื้อแล้วมีความเสี่ยงอาการรุนแรงสูง หรือ มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสูง

 

นอกจากนี้จะพิจารณาจากกำลังการผลิตในแต่ละเดือนเพื่อวางระบบการขนส่งให้เหมาะสม ซึ่งตามสัญญาความร่วมมือประเทศไทยจะผลิตเพื่อนำไปใช้ดูแลในภูมิภาคอาเซียนด้วย โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะอนุญาตในการส่งออกต่อไป

 

สำหรับสถานที่ฉีดวัคซีน ควรใช้สถานที่ใดจึงจะเหมาะสม หากมีการฉีดจำนวนเป็นมากนั้น มองว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีศักยภาพในการให้บริการได้ ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บและให้ความรู้กับประชาชนในการฉีดวัคซีนดังกล่าวด้วย