กรมชลประทานพร้อมรับมืออุทกภัยภาคใต้

26 พ.ย. 2563 | 09:54 น.

กรมชลประทานเตรียมเครื่องมือ - เครื่องจักรกว่ากว่า 1,000 หน่วย ประจำจุดเสี่ยงทั้ง 16 จังหวัด พร้อมกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังจังหวัดภาคใต้รวมทั้งสิ้น 90 จุด

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำในฤดูฝนนี้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเน้นย้ำให้มีการติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับปฏิบัติตามมาตรการเตรียมความพร้อมในการรับมืออุทกภัย ด้วยการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังในพื้นที่จังหวัดภาคใต้รวมทั้งสิ้น 90 จุด  ตรวจสอบระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ

กรมชลประทานพร้อมรับมืออุทกภัยภาคใต้

รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ 499 เครื่อง เครื่องผลักดันน้า 340 เครื่อง รถแทรกเตอร์/รถขุด 309 คัน เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ 152 หน่วย รวมทั้งสิ้น 1,300 หน่วย ประจำพื้นที่เสี่ยง 16 จังหวัดภาคใต้


"เราเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที และเรายังบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแนวทางรับมือสถานการณ์น้ำหลาก รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้ติดตามและเฝ้าระวังเตรียมรับสถานการณ์น้ำจากฝนตกหนักและน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้"


 

 

กรมชลประทานพร้อมรับมืออุทกภัยภาคใต้

 

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน( วันที่ 26 พ.ย. 63) อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคใต้ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 6,118 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ69 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 4,354 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำโดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ปกติ 

กรมชลประทานพร้อมรับมืออุทกภัยภาคใต้
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ภาคใต้จะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคม 2563 จนถึง มกราคม 2564 ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในบางพื้นที่ 


ประกอบกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (One Map) พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2563 ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จึงได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำฝน และน้ำท่าอย่างใกล้ชิดด้วย 
 

นอกจากนั้นแล้วกรมชลประทาน ยังได้ดำเนินโครงการเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะยาว ในพื้นที่ภาคใต้ อาทิ โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร(ลุ่มน้ำคลองชุมพร)จ.ชุมพร โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จ.ตรัง โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่2) จ.สงขลา และโครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง-จะนะ จ.สงขลา เป็นต้น 


"หากโครงการฯแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งป้องกันความเสียหายต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมืองอีกด้วย”