คพ.แจงแก้ฝุ่น PM 2.5 รัฐดำเนินการอย่างต่อเนื่องเชิงรุก

24 พ.ย. 2563 | 06:08 น.

คพ. แจง แก้ไข ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 รัฐ ดำเนินการ อย่างต่อเนื่อง มีแผนเฉพาะกิจ ในเชิงรุก

 

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า จากข้อวิจารณ์การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของรัฐบาลไม่มีความคืบหน้า เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 พอหมดหน้าฝนย่างเข้าสู่หน้าหนาวคนไทยก็จะต้องกลับมาทนกับปัญหาเดิม จึงสงสัยว่าอะไรคือยุทธวิธีในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละลองที่ผ่านครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ผ่านมาเกินกว่า 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ยังไม่เห็นถึงการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม

คพ.แจงแก้ฝุ่น PM 2.5 รัฐดำเนินการอย่างต่อเนื่องเชิงรุก

 

 

นายอรรถพล ชี้แจงว่า ทุกๆปีประเทศไทยจะประสบปัญหาฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐานในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงปลายปีต่อต้นปี เนื่องจากซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับอิทธิผลจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมส่งผลให้เกิดสภาพอากาศปิด ลมสงบ และชั้นบรรยากาศผกผัน (inversion) ทำให้ PM 2.5 ไม่มีการกระจายตัว เกิดการสะสม ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้คือแหล่งกำเนิด ซึ่งหลังจากรัฐบาลได้มีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ เมื่อปีที่ผ่านมา หน่วยงานได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

 

 

คพ.แจงแก้ฝุ่น PM 2.5 รัฐดำเนินการอย่างต่อเนื่องเชิงรุก

 

ในปีนี้ ทส. ได้มีการถอดบทเรียนและทบทวนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและจัดทำแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 และในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 มีมติเห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเชิงรุก โดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1)            การสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จัดทำแผนประชาสัมพันธ์ ตั้งศูนย์ข้อมูลการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ War room ในช่วงเกิดสถานการณ์ เพื่อบูรณาการและสื่อสารข้อมูล และ แต่งตั้งโฆษกเหตุการณ์ช่วงวิกฤตฝุ่นละออง

2)            แต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง ภายใต้คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกหลักในการกำกับดูแลและรับมือสถานการณ์

3)            การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า

-               การเก็บขนและใช้ประโยชน์เศษวัสดุในป่า (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) ระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2563

-               การบริหารจัดการเชื้อเพลิงใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ หรือวันที่จังหวัดกำหนด

4)            สร้างเครือข่าย อาสาสมัคร และจิตอาสา เป็นกลไกหลักเข้าถึงพื้นที่ ทั้งสื่อสาร ติดตาม เฝ้าระวัง และดับไฟ

5)            เร่งขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ภายใต้ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน โดยกำหนดเป้าหมาย 12 จังหวัดภายในปี 2563 และ ครบ 76 จังหวัด ภายในปี 2570

6)            เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

7)            การพยากรณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 3 วัน เพื่อแจ้งเตือนประชาชน โดยเริ่มใช้วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563

8)            ประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการรายงานปริมาณฝุ่นละอองเชิงพื้นที่โดยเริ่มใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2563

9)            พัฒนาระบบคาดการณ์ และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนาและใช้งานแอพพลิเคชันบัญชาการการดับไฟป่า โดยเริ่มใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2563

10)          บริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยใช้แอพพลิเคชันลงทะเบียนจัดการเชื้อเพลิง

11)          ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่าไม้ และลดการเผาป่า ผ่านการจัดที่ดินทำกิน

12)          เจรจาสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระดับอาเซียน ระดับทวิภาคี และระดับพื้นที่ชายแดน

 

 

คพ.แจงแก้ฝุ่น PM 2.5 รัฐดำเนินการอย่างต่อเนื่องเชิงรุก คพ.แจงแก้ฝุ่น PM 2.5 รัฐดำเนินการอย่างต่อเนื่องเชิงรุก

พร้อมกันนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ที่จัดตั้งโดยคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์ในการบูรณาการประสานงานรวบรวมข้อมูลจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ในรูปแบบ One Voice One Team ได้แถลงความคืบหน้าการเตรียมการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง และได้มีการกำหนดให้มีการแถลงข่าวและให้ข่าวทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี รวมถึงให้มีการรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองรายวัน ข้อมูลองค์ความรู้ ซึ่งประชาชนสามารถติดตามได้จาก เฟซบุ๊คแฟนเพจ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)” https://www.facebook.com/airpollution.CAPM นายอรรถพล กล่าว

คพ.แจงแก้ฝุ่น PM 2.5 รัฐดำเนินการอย่างต่อเนื่องเชิงรุก