“เบื้องหลัง-เบื้องลึก” ปฏิบัติการรวบ “เฮียกุ่ย รัชดา-อาจารย์ยอด” ตุ๋นเช่าพระสมเด็จเก๊

29 ต.ค. 2563 | 00:39 น.

สุดท้ายต้องจนมุมต่อหลักฐาน กรณี “เฮียกุ่ย รัชดา” เซียนพระชื่อดัง และ “อาจารย์ยอด” ผู้ก่อตั้งศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน ปล่อยเช่าพระสมเด็จปลอมพร้อมออกเอกสารเท็จสร้างความน่าเชื่อถือ ตำรวจ-ผู้เชี่ยวชาญกรมศิลป์ยันผลตรวจสอบเอกสารและโบราณวัตถุของกลาง พบเป็นของทำเลียนแบบ ไม่ใช่ของจริงเกือบทั้งหมด

 

จากกรณี ตำรวจกองปราบ นำกำลังเข้า จับกุมนาย สุขธรรม ปานศรี หรือ “เฮียกุ่ย รัชดา” เซียนพระชื่อดัง อายุ 70 ปี นาย ธรรมยุทธ์ หรือ ยอด เจนพิชิตกุลชัย รู้จักในชื่อ “อาจารย์ยอด” เจ้าของ ศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน อายุ 60 ปี และนายไตรเทพ ไกรงู อายุ 48 ปี เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา ด้วยข้อหา “ปลอมเอกสารเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อ , ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม , ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สั่นสะเทือนวงการพระเครื่อง เนื่องจาก “ศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน” ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลานั้น เป็นแหล่งพระเครื่องใหญ่ที่มีชื่อเสียง มีภาพลักษณ์น่ายกย่องด้วยความที่เจ้าของคือ “อาจารย์ยอด” ได้จัดสร้างศูนย์ฯ ดังกล่าวเป็นกึ่ง ๆ พิพิธภัณฑ์ กึ่งแหล่งเรียนรู้ที่อ้างอิงบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ สร้างความน่าเชื่อถือและดึงดูดลูกค้าที่นิยมพระเครื่องและวัตถุโบราณได้เป็นจำนวนมาก

 

ทุกอย่างที่จัดแสดงใน“ศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน” ดูมีที่มาที่ไป มีเอกสารประกอบยืนยันความเก่าแก่ ความเป็นของแท้ แต่สุดท้าย เมื่อมีลูกค้าพระเครื่องรายหนึ่ง นำ “พระสมเด็จ” ที่เช่าจากอาจารย์ยอดด้วยมูลค่าหลักล้าน ไปตรวจสอบกับเซียนพระและสถาบันที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพระเครื่อง พบว่าเป็น “ของปลอม” ทั้งองค์พระและเอกสารประกอบต่าง ๆ ที่อาจารย์ยอดนำมายืนยัน จึงนำไปสู่การเข้าแจ้งความกับทางพนักงานสอบสวน กก.6 บก.ป. กระทั่งมีการออกหมายจับ และนำไปสู่การติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 คนในที่สุด

 

ที่น่าตื่นตระหนกในหมู่ลูกค้าของ “เฮียกุ่ย รัชดา” และ “อาจารย์ยอด” ก็คือ เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการประกาศ “แจกฟรีพระสมเด็จ” จำนวนถึง 2 แสนองค์ โดยอ้างว่าเป็นพระแท้  ประชาชนชนทั่วไปที่สนใจสามารถขอรับได้ แต่มีข้อแม้ว่า ต้องยอมจ่ายเงินค่ากรอบและสร้อยคอคล้องพระคนละ 1,000 บาท หลังมีการประกาศออกสื่อออนไลน์ได้ไม่นาน มีผู้หลงเชื่อขอเช่าพระสมเด็จดังกล่าวจำนวนนับหมื่นราย หากคิดเป็นมูลค่าก็นับ 200 ล้านบาท หากตรวจสอบพบเป็นของปลอมทั้งหมด ก็จะเป็นอีกคดีใหญ่ของประวัติศาสตร์วงการพระเครื่อง

 

ย้อนรอย “ศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน”

“เบื้องหลัง-เบื้องลึก” ปฏิบัติการรวบ “เฮียกุ่ย รัชดา-อาจารย์ยอด” ตุ๋นเช่าพระสมเด็จเก๊

นาย ธรรมยุทธ์ หรือ อาจารย์ยอด ได้จัดสร้าง ศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อจัดแสดงโชว์สมบัติมีค่าและวัตถุโบราณ ประกอบด้วยพระสมเด็จพุฒาจารย์โต กว่า 5 แสนองค์ แม่พิมพ์ผลิตพระสมเด็จพุฒาจารย์โต จำนวน 3-4 หมื่นเครื่อง รวมถึงบล็อกทองคำอีกจำนวนมาก อ้างว่าเป็นของ “หลวงวิจารณ์เจียรนัย” ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้รับกล่าวขานว่าเป็นช่างหลวงในราชสำนักและเป็นผู้แกะพิมพ์พระสมเด็จ ถวายสมเด็จพุฒาจารย์โต และเป็นผู้ผสมมวลสารสร้างพระสมเด็จ

 

ภายในศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน ยังมีการนำวัตถุโบราณจำพวกหยก หุ่น เสื้อผ้าโบราณ และของมีค่าอื่น ๆ จากประเทศจีนที่อ้างว่าอยู่ในสมัยราชวงศ์ชิง และเป็นของพระนางซูสีไทเฮา ตลอดจน “ปูยี” จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนแผ่นดินใหญ่ เข้ามาจัดแสดงรวมอยู่ด้วย

 

นายธรรมยุทธ์อ้างว่า พระสมเด็จ บล็อกแม่พิมพ์ต่าง ๆ และสิ่งของมีค่าอายุเก่าเก็บยาวนานกว่า 144 ปีนั้น เป็นมรดกตกทอดที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งก็คือหลวงวิจารณ์เจียรนัย โดยตนมีศักดิ์เป็นเหลนรุ่นที่ 6  พร้อมทั้งนำภาพถ่ายโบราณของบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีตราประทับรับรองจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มากล่าวอ้างว่าเป็นภาพถ่ายของหลวงวิจารณ์เจียรนัยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

 

ส่วนวัตถุโบราณสิ่งของมีค่าจากจีนนั้น นายธรรมยุทธ์ หรือ อาจารย์ยอด ระบุว่า เป็นสมบัติของแม่ที่ขนมาจากประเทศจีนก่อนเข้ามาพำนักมีครอบครัวอยู่ในประเทศไทย

 

ภายหลังจากที่ศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชม นายธรรมยุทธ์ ร่วมกับ เฮียกุ่ย รัชดา เซียนพระชื่อดัง และนายไตรเทพ ได้จัดทำคลิปวิดีโอ เผยแพร่เรื่องราวของสถานที่แห่งนี้ลงในยูทูบและสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

โปรเจคท์ใหญ่แจกฟรีพระสมเด็จ

เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบกรณีที่บุคคลทั้งสาม ได้ประกาศแจกพระสมเด็จ ซึ่งอ้างว่าเป็นพระแท้ ให้กับประชาชนชนทั่วไปฟรีจำนวน 2 แสนองค์ โดยมีข้อแม้ว่า ผู้สนใจขอรับพระต้องยอมจ่ายเงินค่ากรอบและสร้อยคอคล้องพระชุดละ 1,000 บาท ทางฝ่ายผู้ต้องหาได้นำใบตรวจอายุคาร์บอเนตจากการตรวจสอบมวลสารของสถาบันนิวเคลียร์ที่ทำปลอมขึ้นมาแสดงโชว์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้มีผู้หลงเชื่อมาขอเช่าพระสมเด็จดังกล่าวจำนวนนับหมื่นราย

 

ในส่วนของผู้ที่ได้รับความเสียหายและตัดสินใจเข้าแจ้งจับอาจารย์ยอดและพรรคพวกนั้น ข่าวระบุเพียงว่าเป็นนายแพทย์ท่านหนึ่งที่หลงเชื่อและติดต่อขอเช่าพระสมเด็จจากนายธรรมยุทธ์ หรือ อาจารย์ยอด ในราคา 1,800,000 บาท แต่เมื่อได้พระมาแล้ว นายแพทย์คนดังกล่าวได้นำไปให้เซียนพระและสถาบันต่าง ๆ เกี่ยวกับพระเครื่อง ได้ทำการตรวจสอบ ซึ่งสุดท้ายพบว่าองค์พระเป็นของปลอม นำไปสู่การตรวจสอบเอกสารรับรองต่าง ๆของนายธรรมยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นใบรับรองการตรวจสอบมวลสารของสถาบันนิวเคลียร์ ตลอดจนภาพถ่ายที่มีตราประทับจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่อ้างว่าเป็นหลวงวิจารณ์เจียรนัย ผลการตรวจสอบพบว่า ทั้งหมดเป็นของปลอม และบุคคลในภาพก็ไม่ใช่หลวงวิจารณ์เจียรนัย แต่เป็นพระยาราชมนตรี (สง่า สิงหลกะ)โดยมีหลักฐานจากครอบครัวสิงหลกะเป็นผู้ยืนยัน

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ นายแพทย์ผู้เสียหายร่วมกับกรมศิลปากร จึงได้เข้าแจ้งความกับทางพนักงานสอบสวน กก.6 บก.ป. จนมีการออกหมายจับ และนำไปสู่การติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 คนเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยนาย สุขธรรม หรือ เฮียกุ่ย รัชดา ถูกจับกุมที่หน้าบ้านหลังหนึ่งในซอยรัชประชา 4 กรุงเทพ ส่วน นาย ธรรมยุทธ์ ถูกจับกุมที่บริเวณหน้าอาคาร ศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน ม. 3 ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และนายไตรเทพ ถูกจับกุมที่บ้านในเขตดอนเมือง กรุงเทพ

ตำรวจ-ผู้เชี่ยวชาญกรมศิลป์ยันเอกสารปลอมแปลง

ที่กองปราบปราม วานนี้ ( 28 ต.ค.) พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. พร้อมด้วย พ.ต.ต.วาทิต จิตรจันทึก สว.กก.6 บก.ป. ,เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ กก.6 บก.ป. น.ส.เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุโบราณ ศิลปวัตถุ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร นางบุศยารัตน์ คู่เทียม นักจดหมายเหตุเชี่ยวชาญ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร่วมกันแถลงผลจับกุมและผลการตรวจสอบวัตถุของกลาง ซึ่งจากการสอบสวน ผู้ต้องหาทั้ง 3 คนให้การภาคเสธ โดย นาย ธรรมยุทธ์ อ้างว่า ไม่ได้มีเจตนาจะหลอกลวงเอาเงินจากประชาชน เพราะตนเองก็ไม่ทราบเช่นกันว่าเป็นพระปลอม เช่นเดียวกับภาพถ่ายต่าง ๆ เพราะเป็นมรดกตกทอดที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ ทั้งนี้ เขายังยืนยันว่าเป็นเหลนของหลวงวิจารณ์เจียรนัยจริง ๆ

 

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่ค่อนข้างแน่ชัดว่ามีการกระทำความผิดจริง ประกอบกับได้มีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร มาช่วยในการตรวจสอบวัตถุโบราณของกลางต่าง ๆ ก็พบว่าเป็นการทำเลียนแบบขึ้นมา ไม่ใช่ของจริงเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะรูปภาพที่นายธรรมยุทธ์ หรือ อาจารย์ยอด เจ้าของศูนย์มหาสมบัติฯ อ้างว่าเป็นภาพหลวงวิจารณ์เจียรนัย และมีตราประทับรับรองจากหอจดหมายเหตุแห่งชาตินั้นก็เป็นของปลอมที่ทำขึ้นมา จึงแจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.6 บก.ป. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ก่อนที่ทั้งหมดจะได้ประกันตัวด้วยเงินสดคนละ 75,000 บาท ซึ่งหลังจากได้รับการประกันตัวก็ได้มีการออกแถลงการณ์โดยศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดินเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ว่า ทางศูนย์ถูกกลั่นแกล้งและขอแถลงความบริสุทธิ์

 

ในระหว่างนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า หากใครตกเป็นเหยื่อก็ขอให้เข้ามาแจ้งความที่กองปราบได้ทันที