กระทรวงแรงงานเตือนภัย"นายหน้าเถื่อน"

21 ต.ค. 2563 | 08:40 น.

รัฐมนตรีแรงงานห่วงใยนายจ้างและแรงงานต่างด้าว เตือนภัยให้รู้เท่าทันนายหน้าเถื่อน 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานห่วงใยนายจ้างและแรงงานต่างด้าว เตือนภัยให้รู้เท่าทันนายหน้าเถื่อน ลั่นเอาผิดทางกฎหมายเด็ดขาดโทษหนักคุก10ปีปรับ1ล้านบาท

    

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำเตือนนายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ที่ต้องการเข้ามาทำงานภายในประเทศไทย ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด - 19 นี้ ตรวจสอบข้อมูลสาย-นายหน้าก่อนโอนเงิน เพื่อป้องกันถูกหลอกลวงจากขบวนการนายหน้าเถื่อน
  กระทรวงแรงงานเตือนภัย"นายหน้าเถื่อน"    

“ขณะนี้มีขบวนการนายหน้าเถื่อน อาศัยความต้องการแรงงานต่างด้าวของนายจ้าง และสถานประกอบการ  อ้างว่าสามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ โดยทำให้หลงเชื่อว่าเป็นตัวแทนของบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าว หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินจริง  ขอให้นายจ้างและสถานประกอบการอย่าใช้บริการจากนายหน้าเถื่อน นำเข้าแรงงานต่างด้าว นอกจากเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เพราะไม่ผ่านมาตรการตรวจคัดกรองโรคตามขั้นตอนแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเสียเงินเป็นจำนวนมากจากการถูกหลอกลวง
    

เกี่ยวกับเรื่องนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง หากพบผู้กระทำผิด จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ หรือสามารถหาลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้กับนายจ้าง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่  600,000 - 1,000,000 บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน  หรือทั้งจำทั้งปรับ ” นายสุชาติ กล่าว
    

 

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มี 2 วิธี คือ นายจ้างดำเนินการด้วยตนเอง หรือนายจ้างมอบอำนาจให้บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ (บริษัทนำเข้า) ที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมการจัดหางานเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น  251  แห่ง เป็นผู้รับอนุญาตฯ ที่บริษัทตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร  75 แห่ง และส่วนภูมิภาค 176 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2563)   
    

พร้อมเน้นย้ำว่า การจ้างงานคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานนั้น ทำให้นายจ้าง/สถานประกอบการมีความผิดเช่นกัน ซึ่งจากผลการตรวจสอบและดำเนินคดี นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563 พบว่า มีการดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ จำนวน 1,569 ราย  คนต่างด้าว ถูกดำเนินคดี จำนวน 1,955 คน และถูกผลักดันกลับประเทศ จำนวน 1,470 คน 
  

 “ นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว สามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานฯ ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานได้ที่ www.doe.go.th  หรือหากต้องแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ ที่ถูกสาย/นายหน้าเถื่อนหลอกลวง สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด  สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10  หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2  กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการด้วย”  อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ย้ำ! เดือนสุดท้าย ต่างด้าว 3 สัญชาติต้องยื่นขออนุญาตทำงานภายใน 31 ต.ค.

“มหาดไทย” สั่งทุกจังหวัด สแกนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

แรงงาน สั่งติดตามปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง

ท้องถิ่นแม่สอดร้องขอ“บิ๊กตู่” เก็บรายได้“แรงงานต่างด้าว”