กรมชลประทาน เตรียมแผนรับมือฝนตกหนัก หลังอุตุฯคาดพายุลูกใหม่กระทบไทย

20 ต.ค. 2563 | 08:31 น.

กรมชลประทานผนึกหน่วยงานรัฐ เตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์พายุลูกใหม่เข้าฟิลิปปินส์ -เวียดนามและกระทบไทยในสัปดาห์นี้

วันที่ 20 ตุลาคม 2563 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ 


ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(20ต.ค.63)อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 45,405 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 60 %  ของความจุอ่างฯ  เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 21,474 ล้าน ลบ.ม. 


เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,201  ล้าน ลบ.ม หรือ  49 % ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,505 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30 % ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 
 

กรมชลประทาน เตรียมแผนรับมือฝนตกหนัก หลังอุตุฯคาดพายุลูกใหม่กระทบไทย

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า พายดุีเปรสชัน(พายุระดับ2)บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก จะทวีกำลังแรงขึ้น เป็นพายุโซนร้อน (พายุระดับ3) และจะเคลื่อนผ่าน ประเทศฟิลิปปินส์ลงทะเลจีนใต้ในช่วงวันที่ 20-21ต.ค.63 หลังจากนั้นจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งเวียดนามในช่วงวันที่ 23-24 ต.ค. 63 ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดฝนตกหนักในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกของประเทศไทย


จึงได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงนี้ไปจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ตามที่อุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ขอให้เร่งระบายน้ำเพื่อรองรับระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้น  โดยเน้นย้ำไปยังศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะswocทั่วประเทศ ให้ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด 


พร้อมแจ้งสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนมายังswocส่วนกลาง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำ และแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งแจ้งขอรับการสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือเสริมจากสำนักเครื่องจักรกล เพื่อให้การช่วยเหลือทำได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 

นอกจากนี้ ขอให้ปฏิบัติตามข้อสั่งการของ พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ในสถานการณ์อุทกภัย คือ


1.ให้นำสถานการณ์อุทกภัยต่างๆ มาเป็นบทเรียนในการบริการจัดน้ำในครั้งต่อๆไป 2.การระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย ต้องรวดเร็ว ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด 3.พิจารณาหาพื้นที่เก็บกักน้ำ อาทิ แก้มลิง เพื่อเป็นพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงน้ำหลาก สนับสนุนเกษตรทฤษฎีใหม่ 


4.ปรับปรุงระบบชลประทานให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป  5.ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบถึงแผนการดำเนินงานของภาครัฐ 6.ให้สำรวจความเสียหายของระบบสาธารณูปโภค รวมถึงอาคารชลประทานต่างๆ หลังน้ำลด ซ่อมแซมปรับปรุงให้กลับมาพร้อมใช้ดั่งเดิม