เร่งระบายน้ำจากโคราชลงแม่น้ำมูล

17 ต.ค. 2563 | 20:00 น.

กรมชลประทานลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำจากโคราชลงแม่น้ำมูลให้เร็วที่สุด พร้อมติดตามช่วยเหลือประชาชนด้านท้ายเขื่อนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนลำพระเพลิง

เมื่อค่ำวันที่  17 ตุลาคม 2563 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งรับฟังสรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.นครราชสีมา  โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องวางแนวทางจัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำมูล เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาลงสู่แม่น้ำมูลให้เร็วที่สุด พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ

 

 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน


นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านท้ายน้ำเขื่อนลำพระเพลิง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึงต่อไป
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่างเก็บน้ำหินตะโง่ แตก!

เช็กด่วน พายุลูกใหม่ เฉียดภาคอีสาน  25-26 ต.ค.นี้

 

“เพื่อเป็นการเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาให้ไหลลงสู่แม่น้ำมูลได้เร็วขึ้น ได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณอำเภอพิบูลย์มังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงให้ไวที่สุด พร้อมทั้งจัดจราจรน้ำ ด้วยการหน่วงน้ำในแม่น้ำชีให้ได้มากที่สุด เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงไปสมทบกับแม่น้ำมูล ซึ่งจะช่วยให้การระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา” 


ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ปากช่อง อ.ปักธงชัย และอ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเข้าไปตรวจสอบความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำทำการสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในระยะต่อไป 


หากประชาชนหรือหน่วยงานใด ต้องการความช่วยเหลือสามารถประสานไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน ได้ตลอดเวลา
 

 

 

เร่งระบายน้ำจากโคราชลงแม่น้ำมูล

ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 8 จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 284 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 90 % เขื่อนมูลบน มีปริมาณน้ำเก็บกัก 96 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 68 % เขื่อนลำแซะ มีปริมาณน้ำเก็บกัก 135.65 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 49 % เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 165.25 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 107 % และเขื่อนลำนางรอง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 64.31 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 53 %