ตั้งกรรมการสอบ "กองทุนสื่อฯ" ปมแจกทุนสนับสนุน 300 ล้าน 

28 ก.ย. 2563 | 12:26 น.

ผจก.กองทุนพัฒนาสื่อฯ ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง กรณีแจกทุนสนับสนุน 300 ล้านบาท 

วันที่ 28 กันยายน 2563 นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ลงนามในคำสั่งสํานักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ ๑๗๓/๒๕๖๓ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง ระบุว่า 

 

ตามที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ออกประกาศ เรื่อง การเปิดรับ ข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจําปี 2563 โดยเปิดให้ผู้ขอรับการสนับสนุนยื่นคําขอรับการสนับสนุนพร้อมทั้งรายละเอียดโครงการหรือกิจกรรมและ งบประมาณที่ขอรับการสนับสนุนในระบบ Online โดยบันทึกข้อมูลผ่านทาง www.thaimediafund.or.th ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 3 กันยายน 2563 ภายในเวลา 16.30 น.

 

 แต่ด้วยกรณีเกิดความผิดพลาดของระบบ เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการโครงการผู้ขอรับทุน ทั้งจากกรณีระบบติดขัดในคืนวันที่ 2 กันยายน 2563 และระบบการแจ้งเตือนอัตโนมัติเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณา ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่กระบวนการ พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว 

ทั้งสองกรณีสะท้อนถึงมาตรฐานระบบงานของกองทุนและกระทบต่อความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นของ กองทุนฯ ในการนี้เพื่อให้ได้ทราบปัญหาที่แท้จริง และเพื่อเป็นการวางระบบป้องกันปัญหาในระยะยาวจึงให้แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

 

อาศัยอํานาจตามความในข้อ 29 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงในเรื่อง ดังกล่าว ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้

ที่ปรึกษา 

- นายอํานวย โชติสกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการ 

 

องค์ประกอบ 

- นางสาวมนทิรา จูฑะพุทธิ ประธานกรรมการ 

- นางสาวสุธิตา หมายเจริญ กรรมการ

- นายนรชัย ด่านไทยวัฒนา เลขานุการและกรรมการ 

- นายฤทธิเลิศ เวศย์วรุตย์ ผู้ช่วยเลขานุการ 

 

อํานาจหน้าที่

1. ดําเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้น พร้อมทั้งศึกษาผลดี และผลกระทบจากปัญหา การลงทะเบียน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการโครงการผู้ขอรับทุน แล้วสรุปผลการ สอบสวนหาข้อเท็จจริงพร้อมรายงานต่อผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น

 

2. นําข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนพัฒนาการลงทะเบียน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการโครงการผู้ขอรับทุน ในรอบถัดไป

 

3. เชิญเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง หรือบุคลากรภายในสํานักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและ สร้างสรรค์ มาให้ถ้อยคํา รวมตลอดถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไอที่ภายนอกมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อเป็นแนว ทางแก้ไขและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการโครงการผู้ขอรับทุน ให้ดียิ่งขึ้น

 

4.เรียกเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากฝ่ายงานภายในสํานักงาน บุคคล อื่นที่เกี่ยวข้อง

 

5.ดําเนินการอื่นใดตามที่ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มอบหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ตั้งกรรมการสอบ "กองทุนสื่อฯ" ปมแจกทุนสนับสนุน 300 ล้าน 

ตั้งกรรมการสอบ "กองทุนสื่อฯ" ปมแจกทุนสนับสนุน 300 ล้าน 

สำหรับกรณีนี้ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการผลิตสื่อของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 300 ล้านบาท ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2563 นายจารุวงศ์ ณ ระนอง ผู้แทนเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เครือข่ายฯ กำลังรอดูท่าทีผู้จัดการกองทุน เกี่ยวกับการทบทวนอนุมัติโครงการฯ ภายหลังจากยื่นเรื่องให้พิจารณาไปก่อนหน้านี้ โดยจะให้เวลาประมาณ 15 วัน หากไม่มีการดำเนินการอะไร จะยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้มีคำสั่งทางปกครองระงับการเบิกจ่ายของกองทุนฯ 

 

"ภายหลังจากเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อให้พิจารณาทบทวนการอนุมัติทุน เราเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลปกครองด้วย แต่ฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายฯ แนะนำว่า 15 วัน หลังยื่นอุทธรณ์ต่อกองทุนแล้วจึงจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองได้ ในช่วงนี้ จึงอยู่ระหว่างรอดูผลอุทธรณ์ว่าเป็นอย่างไร ผู้จัดการกองทุนจะมีท่าทีอย่างไรต่อกรณีดังกล่าว โดยการยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ประเด็นหลักที่จะยื่นคือขอให้มีคำสั่งทางปกครองระงับการเบิกจ่ายของกองทุนฯดังกล่าว” 

 

นายจารุวงศ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นเรื่องนี้ให้หน่วยงานตรวจสอบหลายแห่ง ตั้งแต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต่อมาได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากนั้นได้ไปยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีตัวแทนกองทุนฯ รับหนังสือ จนกระทั่งล่าสุด คือ เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา ได้ไปยื่นหนังสือต่อนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระองค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน เพื่อขอให้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบในประเด็นเดียวกัน เท่าที่ติดตามเรื่องจาก กมธ. ชุดดังกล่าว ทราบว่าจะมีการนำเรื่องเข้าไปในวาระการประชุม โดยอาจจะมีการทำหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง 

 

"การยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากเครือข่ายฯ เห็นว่าในปีนี้มีการพิจารณาอย่างเร่งรัดและเมื่อให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาถึง พ.ร.บ. และระเบียบของกองทุนฯ แล้ว พบว่าขัดกัน เนื่องจากกองทุนฯมีเจตนารมณ์อย่างหนึ่งแต่กลับมีการออกระเบียบมาอีกอย่างหนึ่ง เพื่ออนุมัติโครงการ จึงเป็นเรื่องของ common sense (สามัญสำนึก) ที่ว่ากองทุนควรจะอนุมัติให้กับคนตัวเล็ก ๆ หรือองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงกำไรแต่นี่มีบริษัท มีองค์กรเอกชนที่ได้ทุนไปเยอะ เรามองว่าผิดวัตถุประสงค์ คือ เราไม่ได้ชี้ว่าบริษัทหรือองค์กรเอกชนผิด แต่อยากให้มีการเข้ามาดูความเหมาะสม ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์กองทุนฯ หรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ก็อยากให้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม แต่ก็ยอมรับว่าผู้ได้รับการพิจารณาบางส่วน อาทิ หน่วยงานทางการศึกษา ยอมรับว่าเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง" นายจารุวงศ์ระบุ

 

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 และ 27 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรและฝ่ายอำนวยการของกองทุนพัฒนาสื่อฯ ตามเบอร์ที่ปรากฏในหน้าเว็บไซต์ของกองทุนฯ เพื่อสัมภาษณ์กรณีที่ภาคประชาชนตั้งคำถามต่อการพิจารณาอนุมัติทุน แต่ไม่สามารถติดต่อใครได้ 

 

ที่มา สำนักข่าวอิศรา