ระนองเชียร์สุดตัว ‘แลนด์บริดจ์ใหม่’

21 ก.ย. 2563 | 03:59 น.

    ภาคเอกชนระนองขานรับสนั่น ครม.อนุมัติงบ 68 ล้านบาท จ้างศึกษาโครงข่ายคมนาคมพัฒนา SEC เชื่อมขนส่งข้ามคาบสมุทรอ่าวไทย-อันดามัน หรือ"แลนด์บริดจ์"ภาคใต้

ภาคเอกชนระนองขานรับสนั่น มติครม.อนุมัติงบ 68 ล้านบาท จ้างศึกษาโครงข่ายคมนาคมพัฒนา SEC เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งข้ามคาบสมุทรเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ภาคใต้ หาโมเดลเปิดทางเอกชนลงทุนพีพีพี
    

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อ 15 กันยายน 2563 อนุมัติให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(SEC) เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ วงเงิน 68 ล้านบาทเศษ


ที่ผ่านมาครม.เห็นชอบหลักการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน(SEC) เมื่อ 14 พ.ค. 2562 ครอบคลุม 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เชื่อมโยงฐานการผลิตกับพื้นที่อีอีซี และให้ระนองเป็นประตูการค้าด้านตะวันตกทางทะเล ต่อมาอนุมัติแผนการพัฒนาวงเงินรวม 1.06 แสนล้านบาท เมื่อ 23 ม.ค.2563 โดยแผนงานหัวใจคือ ทางรถไฟสายใหม่จากชุมพรถึงท่าเรือระนอง เป็นระบบรางข้ามคาบสมุทรสายแรก และเพิ่มศักยภาพท่าเรือน้ำลึกระนอง
  ระนองเชียร์สุดตัว ‘แลนด์บริดจ์ใหม่’    

นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานคณะกรรมการหอการค้า จ.ระนอง เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มติ ครม.15 ก.ย. 2563 อนุมัติงบจ้างที่ปรึกษาศึกษาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเพื่อพัฒนาSEC เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันครั้งนี้ ยิ่งตอกย้ำความมั่นใจแก่ประชาชนในพื้นที่ ว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งเอกชนถือว่า นี่คือกุญแจสำคัญการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการขนส่งของไทย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของเมืองท่าขนถ่ายสินค้าฝั่งอันดามัน ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่มีเมืองท่าในย่านนี้
    

“การส่งเสริมยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ได้รับการสนับสนุน และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น การประชุมปฐมนิเทศโครงการ นับเป็นโอกาสอันดีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ รวมทั้งประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ”
  ระนองเชียร์สุดตัว ‘แลนด์บริดจ์ใหม่’

ระนองเชียร์สุดตัว ‘แลนด์บริดจ์ใหม่’    

นายนิตย์กล่าวต่อว่า ภายใต้แผน SEC ตั้งเป้าหมายให้ระนองเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกทางทะเล เชื่อมโยงการค้ากับกลุ่มประเทศบิมสเท็ค ทำให้มีผู้ประกอบการเดินเรือเริ่มเข้ามาศึกษาโอกาสเปิดเส้นทางการเดินเรืออีกครั้ง ยิ่งหากมีเส้นทางรถไฟเข้ามาเชื่อมโยงจะยิ่งเร่งให้เกิดการลงทุนเร็วขึ้น ซึ่งการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ตั้งงบประมาณพัฒนาท่าเรือระนองให้รองรับเรือและปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งปัดฝุ่นโครงการคอนเทนเนอร์แลนด์ยาร์ดที่ จ.ชุมพรอีกครั้ง เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการขนถ่ายสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์จากฝั่งอ่าวไทยมายังฝั่งอันดามัน สามารถรองรับฐานการผลิตจากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี.)
       

“โครงการนี้เป็นไปได้มากกว่าเรื่องคอคอดกระ หรือการขุดคลองเชื่อมอ่าวไทย-อันดามันมาก ซึ่งจุดแข็งของท่าเรือระนอง คือ กายภาพที่มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลฝั่งอันดามัน และจะเป็นฮับขนส่งทางทะเล ของกลุ่มประเทศบิมสเท็คในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ได้ แต่ต้องมีการพัฒนาและสนับสนุนเป็นขั้นตอนจึงจะเกิดขึ้นได้
    

ระนองเชียร์สุดตัว ‘แลนด์บริดจ์ใหม่’

ระนองเชียร์สุดตัว ‘แลนด์บริดจ์ใหม่’

ส่วนทางรถไฟสายใหม่ชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนองนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบแนวสายทางไว้แล้ว หากเห็นชอบให้ลงทุนก็พร้อมดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้กรมทางหลวงได้ขยายถนนเพชรเกษม ช่วงชุมพร-ระนอง ให้เป็น 4 เลนแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการต่อสายทางจากระนองมุ่งหน้าพังงา เกิดถนนเพื่อการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามันด้วย 

ระนองเชียร์สุดตัว ‘แลนด์บริดจ์ใหม่’

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร้องปลดล็อกที่ดิน ระนอง ย่านธุรกิจทับป่าชายเลน

กทท.ทุ่มงบ 41.8 ลบ. ปรับโครงสร้าง “ท่าเรือระนอง” เชื่อมกลุ่ม BIMSTEC

วิ่งฉลุยขยาย4เลน”ตะกั่วป่า – โคกกลอย”แล้วเสร็จ

ดึง JICA ปั้น‘ระนอง’น่าอยู่ 5 ยุทธศาสตร์สู่เมืองอนาคต