22 กันยายน #วันศารทวิษุวัต กลางวันยาวเท่ากลางคืน

22 ก.ย. 2563 | 01:24 น.

22 กันยายน 2563 เป็นวัน “ศารทวิษุวัต” ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน

เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ออกมาโพสต์ข้อความว่า วันอังคารที่ 22 กันยายน 2563 เป็นวัน “ศารทวิษุวัต” ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับเวลากลางคืน ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้

 

วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) เป็นเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน คำว่า “Equinox” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งตรงกับคำว่า “วิษุวัต” แปลว่า "จุดราตรีเสมอภาค" โดยวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันนี้จะเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)

 

ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ดวงอาทิตย์ค่อยๆ เคลื่อนที่จากจุดเหนือสุดลงมาทางใต้  เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี

 สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06:07 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:14 น. นับเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาล เริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้ จากนั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนลงทางใต้เรื่อย ๆ จนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 จากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนกลับทางเหนืออีกครั้ง

ในหนึ่งปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี โลกจึงมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) และช่วงไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (ระยะห่างเฉลี่ย 152 ล้านกิโลเมตร) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะทางใกล้-ไกล ในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก ไม่ส่งผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด แต่การที่แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจึงรับแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว

ปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ของดวงอาทิตย์ คือ “วันเหมายัน”  (Winter Solstice) ในวันที่ 21 ธันวาคม 2563 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

 

นักดาราศาสตร์ค้นพบหลักฐานที่อาจบ่งชี้ถึง สิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์

อย่าลืมชม “ดาวหาง นีโอไวส์" ใกล้โลกสุด วันนี้

รู้จัก "ดาวหาง นีโอไวส์ (NEOWISE)" ก่อนโคจรใกล้โลกที่สุด 23 ก.ค.นี้

พรุ่งนี้ รอชมปรากฏการณ์ "ดาวเสาร์ใกล้โลก" ที่สุดในรอบปี