เปิดผลการดำเนินงาน 10 ปี “มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ”

06 ก.ย. 2563 | 05:09 น.

เปิดผลการดำเนินงาน 10 ปี มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ "มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ"  ได้เผยแพร่ผลงานการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ระบุว่า 

 

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จัดตั้งขึ้นโดยวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริม บูรณาการและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาของประชาชนในชนบท และมีพันธกิจตามที่มติคณะรัฐมนตรีมอบหมาย คือ จัดการความรู้และส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างเป็นระบบกว้างขวาง จนกระทั่งเป็นแนวทาง การพัฒนาหลักของประเทศ

 

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการมาแล้วรวม 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2554 – 2558) และระยะที่ 2 (พ.ศ. 2559 – 2563) และมีการกำหนดแผนปฏิบัติการ ในระยะที่ 3 ไว้แล้ว เพื่อให้เป็นไปตามลำดับขั้นของการพัฒนา คือ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน


จุดเด่นการทำงานของมูลนิธิปิดทองฯ

การประเมินผลการดำเนินงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ โดยองค์กรภายนอกและสถาบันการศึกษา (Third Party) ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าพื้นที่ต้นแบบประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ตามภูมิสังคมของแต่ละแห่ง ซึ่งเป็นผลมาจากวิธีการทำงานของปิดทองหลังพระฯที่ปฏิบัติงาน โดยน้อมนำหลักการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ช่วยให้เขาพึ่งตนเองได้” เป็นหลัก รวมทั้งน้อมนำศาสตร์พระราชา เป็นองค์ความรู้ในการพัฒนา ทั้ง 6 มิติ คือ ดิน น้ำ ป่า เกษตร สิ่งแวดล้อม และพลังงาน

นอกจากนี้ แนวปฏิบัติของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ยังดำเนินการทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ กล่าวคือ


ต้นน้ำ

แหล่งองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ ประกอบด้วยความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนา โครงการส่วนพระองค์ โครงการตามพระราชประสงค์ โครงการหลวง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์

 

กลางน้ำ

ปิดทองหลังพระ มีบทบาทเป็นสะพานเชื่อม ระหว่างต้นน้ำกับปลายน้ำ โดยมุ่งเน้นด้านการจัดการความรู้ การส่งเสริมการพัฒนา และการสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือ

 

ปลายน้ำ

การบูรณาการระดับพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด เพื่อนำองค์ความรู้จากโครงการพระราช ดำริเชื่อมโยง และปรับใช้ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสมกับภูมิสังคม และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งเป้าหมายให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข

 

ผลการปฏิบัติงาน ในรอบ 10 ปี

จากการประเมินเบื้องต้นที่น่าสนใจ พบว่า

* พื้นที่รับประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ 275,714 ไร่ จากการร่วมกับชุมชนและราชการพัฒนาแหล่งน้ำและสร้างฝาย 6,259 แห่ง

* รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 109 ล้านบาท (เมื่อเริ่มโครงการ ปี 2553) เป็น 2,676 ล้านบาทต่อปี

* รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ สูงกว่าครัวเรือนในพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญ คือ 134,890 บาท (คิดเป็นร้อยละ 64) และผ่านพ้นเส้นความยากจนแล้วร้อยละ 74

* เกิดพื้นที่ป่าและป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นรวม 106,580 ไร่ (จังหวัดน่าน เพชรบุรี และอุทัย ธานี)

* การพัฒนาอาชีพทางเลือก ทำให้เกิดกลุ่มกองทุนที่บริหารจัดการโดยชุมชน จำนวน 66 กลุ่ม มีสมาชิก 2,150 ครัวเรือน มีเงินในกองทุนหมุนเวียน 12 ล้านบาท

 

ทุเรียนคุณภาพ เพิ่มรายได้ ขยายตลาด
หนึ่งในโครงการที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ดำเนินการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ร่วมกับจังหวัดยะลา พัฒนาโครงการทุเรียนซิตี้ เป็นโครงการนำร่องในการส่งเสริมให้เกษตรกรทำทุเรียนคุณภาพ ในท้องที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อปี 2561 และพัฒนาก้าวหน้าเป็น “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ทุเรียนคุณ ภาพ)” ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัด 13 อำเภอ 36 ตำบล

 

* ปิดทองหลังพระฯ ยังสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับอาสาสมัครทุเรียนจำนวน 104 คน ได้ เรียนรู้วิธีการผลิตทุเรียนคุณภาพในขั้นตอนต่าง ๆ จากปราชญ์ทั้งในพื้นที่ จชต. และจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย สร้างรายได้จากค่าตอบแทนให้กับอาสาทุเรียน รวม ๘ ล้านบาท

 

ผลงานพัฒนาในพื้นที่ต้นแบบ : สี่จังหวัดชายแดนภาคเหนือ

โครงการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาการค้าและการลำเลียงยาเสพติด บริเวณชายแดนภาคเหนือ เป็นการขยายผลโครงการร้อยใจรักษ์ ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชรมหาวัชรราชธิดา เพื่อพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) ในพื้นที่บ้านห้วยส้าน ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพ และแหล่งรายได้ที่สุจริต สามารถพึ่งตนเองได้ ลดปัญหายาเสพติด และสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ

 

คณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2561 เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จ (พ.ศ. 2562 – 2565) กำหนดให้นำการพัฒนาทางเลือกด้วยศาสตร์พระราชา มาเป็นมาตรการหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมอบหมายให้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ รับผิดชอบด้านการสร้างคนและระบบการพัฒนา รวมถึงการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเพื่อสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานราชการผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และพะเยา 19 อำเภอ 119 ตำบล มีผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และส่วนราชการ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ประสบการณ์ในพื้นที่จริงและฝึกปฏิบัติ รวม 11,441 คน จาก 165 องค์กรปกครองท้องถิ่น

การนำความรู้ไปปฏิบัติ ทำให้เกิดโครงการพัฒนาระบนน้ำในพื้นที่ 57 โครงการ มีผู้รับประโยชน์ 15,363 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 19,563 ไร่

 

ในปี 2563 จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา ได้ขอให้สถาบันฯ ดำเนินโครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ (พชร.) เพื่อสร้างต้นแบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ในพื้นที่ของจังหวัด ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีภูมิคุ้มกัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในพื้นที่
1. บ้านแม่กอน ตำบลทุ่งข้าวพวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
2. บ้านหัวแม่คำ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
3. บ้านห้วยสา ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

 

โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะว่างงานของ Covid-19

นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID -19 ในทุกพื้นที่ของปิดทองหลังพระฯ ได้รับผลกระทบน้อยมาก และยังมีศักยภาพในการรองรับครอบครัวที่ตกงานและกลับมาในพื้นที่ได้ จากนวัตกรรมการพัฒนาชุมชนเชิงบูรณาการของปิดทองหลังพระฯ ภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะว่างงานของ Covid-19 โดยประยุกต์ใช้หลักการ 3 ประโยชน์ 4 ประสาน

 

มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะจะทำให้เกิดการเลิกจ้างงานในวงกว้าง แรงงานซึ่งเป็นประชาชนฐานราก จะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมทั้งเกษตรกรในชนบทที่มีปัญหาเดิมอยู่แล้ว ทั้งภัยแล้งและเศรษฐกิจตกต่ำ

 

มาตรการเร่งด่วนสำหรับการดูแลประชาชนทั้งสองกลุ่มนี้ คือ จะต้องสร้างโอกาสการทำงานในภูมิภาคและชนบท เพื่อส่งเสริมให้แรงงานกลับบ้าน ภูมิภาคและชนบท และ ใช้โอกาสนี้สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบทได้อีกด้วย

 

หลักการดำเนินโครงการ คือ การพัฒนาตามแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกษตรกรและผู้ว่างงานได้เรียนรู้การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ และปฏิบัติงานพัฒนาในพื้นที่โครงการ เช่น การซ่อมแซมและเสริมประสิทธิภาพแหล่งน้ำ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพในอนาคต รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ให้มีรายได้จากอาชีพการเกษตรหลังมีน้ำ โดยดำเนินการใน 3 จังหวัดพื้นที่ต้นแบบปิดทองฯ คือ อุดรธานี ขอนแก่น และกาฬสินธุ์

 

แนวทางการดำเนินการ เริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ต่อยอดด้วยการพัฒนาการเกษตรหลังมีน้ำ และจ้างงานผู้ถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์ Covid-19 มาเป็นเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครพัฒนาหมู่บ้านมาช่วยงานโครงการ เพื่อให้มีงานทำ และเรียนรู้พร้อมฝึกปฏิบัติการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริไปด้วย

 

จากนั้นเป็นการคัดเลือกโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโครงการอื่นๆ ที่มีความเสียหาย ใช้ประโยชน์จากน้ำไม่เต็มศักยภาพของแหล่งน้ำ ทำการซ่อมแซมโด ปิดทองหลังพระฯ สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และราษฎรสละแรงงาน

 

ผลการงาน มีโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองและเห็นชอบใน 3 จังหวัด รวม 107 โครงการ ครอบคลุม 43 อำเภอ มีการจ้างงานแรงงานระยะเวลา 3 เดือน รวม 369 คน จำแนกเป็น พนักงานโครงการฯ 57 คน และอาสาสมัครพัฒนาหมู่บ้าน จำนวน 312 คน


โครงการนี้ ใช้งบประมาณดำเนินการ 48,836,012 บาท โดยคาดการณ์รายได้ของเกษตรกรจะอยู่ที่ 217 ล้านบาทต่อปี โดยเฉลี่ยรายได้ที่ 7,000 บาท/ไร่ หรือ 3,400 บาท/เดือน และเมื่อสิ้นสุดโครงการ พบว่า พนักงานโครงการและอาสาพัฒนาหมู่บ้าน ร้อยละ 97 แสดงความประสงค์ที่จะกลับมามีอาชีพทำการเกษตร

 

นอกจากนี้ยังพบว่า จังหวัดและอำเภอเห็นความสำคัญ นำไปขยายผลโดยกลไกของจังหวัดและอำเภอ เช่น จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการโดยงบประมาณของจังหวัดเอง 2 โครงการ และมีแผนที่จะขยายผลไปอีก 16 โครงการ โดยใช้งบประมาณของกรมการปกครอง และของมหาวิทยาลัยในจังหวัด ที่จ้างแรงงานตำบลละ 1 คน มาเป็นแรงงานในโครงการ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งคณะทำงานชุดเล็กเพื่อพิจารณาแผนพัฒนาอาชีพต่อยอดหลังมีระบบน้ำ โดยมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชน เป็นแกนหลัก จังหวัดอุดรธานี คณะทำงานระดับจังหวัดฯ มอบหมายให้หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง เช่น เกษตรอำเภอ พัฒนาที่ดิน พัฒนาชุมชน พิจารณาจัดทำแผนพัฒนาอาชีพต่อยอดในแต่ละโครงการ เป็นต้น

 

ผลจากโครงการมิติทางด้านสังคม แม้พนักงานโครงการและอาสาสมัครจะหมดสัญญาจ้างกับสถาบันฯแล้ว แต่ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม "ก่อการดี" ขึ้น เพื่อไปช่วยพัฒนาโครงการอื่น ๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยไม่มีค่าตอบแทน

 

ความพึงพอใจ ที่ภาคภูมิใจ

ผลการศึกษาการรับรู้ ความพึงพอใจ และความคาดหวังต่อปิดทองหลังพระฯ ในพื้นที่ต้นแบบ ๕ จังหวัด ที่ดำเนินการศึกษาในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการทุกพื้นที่มีความพึงพอใจในระดับที่สูงมาก

 

ก้าวไปข้างหน้า สู่ความยั่งยืน

แผนปฏิบัติการระยะ 3 (พ.ศ.2564-2565) ของมูลนิธิฯและสถาบันฯ มุ่งเน้นต่อยอดความยั่งยืนให้แก่ชุมชนในพื้นที่ต้นแบบ ตลอดจนขยายขอบเขตในการใช้แนวพระราชดำริไปสนับสนุนการพัฒนาในมิติที่กว้างขวางขึ้นและมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งในด้านความมั่นคง ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาค ด้านสร้างความสามารถทางการแข่งขัน และด้านการเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

 

แผนปฏิบัติการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 3 ปี 2564-2565 มีแนวทางดำเนินการ คือ
1. ทำให้พื้นที่ต้นแบบเดิม 9 จังหวัด พัฒนาหมู่บ้านไปสู่ความยั่งยืน พึ่งพาตัวเองได้ ด้วยการพัฒนากลุ่ม/กองทุนให้มีความเข้มแข็งให้เป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน สามารถเชื่อมโยงกับภายนอกในด้าน แหล่งทุน ความรู้ นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการตลาด รวมทั้งพัฒนาครัวเรือนที่ยังมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนให้ผ่านตามเกณฑ์
2. ส่งเสริมการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง

 

ในจังหวัดชายแดนเหนือ 4 จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา การอบรมเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชน ที่มีสถานการณ์ยาเสพติด จำนวน 119 ตำบล 19 อำเภอ หลังจากอบรมแล้วสามารถประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ ไปขยายผลโครงการร้อยใจรักษ์ ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จ (พ.ศ.2562 – 2565) ด้วยการพัฒนาหมู่บ้านด้านโครงสร้างพื้นฐานเน้นเรื่อน้ำ และอาชีพเกษตร เพื่อเป็นทางเลือกให้ราษฎรมีอาชีพที่สุจริต ลดละเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งดำเนินการไปแล้วในระยะแรก 47 หมู่บ้าน มีเป้าหมายดำเนินการในปี 2564 – 2565 จำนวน 66 หมู่บ้าน

 

จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) ดำเนินการตามแนวทางสันติภาพเพื่อเพิ่มความสามารถทางการประกอบชีพของประชาชน โดยเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพของเกษตรกรทั้งในด้านเกษตรครัวเรือน พืชไร่ และพื้ชสวน โดยเฉพาะในการผลิตทุเรียนคุณภาพ อบรมให้ความรู้เกษตรกรในการทำทุเรียนคุณภาพตลอดช่วงการเจริญเติบโตของผลผลิต การให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ป้องกันโรคพืชและแมลง การเก็บเกี่ยวผลผลิต ให้ได้เกรดส่งออกต่างประเทศ เป้าหมาย 600 ครัวเรือน มีรายได้ ปีละ 160 ล้านบาท

 

3. จัดทำระบบพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ เพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชนให้สามารถเป็นผู้ถอดบทเรียน และบริหารจัดการองค์ความรู้ด้วยชุมชนเอง การสร้างชุดความรู้ พร้อมอบรมคนในพื้นที่ให้เป็นวิทยากรได้ รวมถึงการปรับปรุงแผนการทำงาน และจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการวางแผนการพัฒนาพัฒนาชนบท เพื่อให้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงานพัฒนา และการติดตามประเมินผล

ที่มา มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งอนุรักษ์ ทุเรียน "ขมิ้น ยายล่วน" ก่อนสูญพันธุ์

ครม.อนุมัติงบ 572 ล้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง

8 องค์กร จับมือผุดโมเดล “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ฝ่าวิกฤตประเทศไทย

เปิดล้ง รับซื้อทุเรียนคุณภาพ เสริมเศรษฐกิจชายแดนใต้