เปิดผล WHO ถอดบทเรียนป้องกันโควิดของไทย

10 ส.ค. 2563 | 18:05 น.

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผย ผลถอดบทเรียนเบื้องต้นจากทีม WHO ในการป้องกันโควิด-19 ของไทย ระบุ ประสบความสำเร็จในหลายเรื่องแต่ยังต้องพัฒนาต่อเรื่องความพร้อมในการรับมือการระบาดระลอก 2 ที่อาจเกิดขึ้นได้

กระทรวงสาธารณสุข เปิดผลการถอดบทเรียนเบื้องต้นของทีมจาก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ในการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ของไทยซึ่งถือเป็นที่แรกของโลก เผย ประเทศไทยประสบความสำเร็จเรื่องความรวดเร็วในการตรวจจับเหตุการณ์ การทำงานบูรณาการของหน่วยงานต่างๆในหลายภาคส่วน การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การเฝ้าระวังโรคของผู้เดินทางในสถานที่กักกัน แต่ยังต้องพัฒนาต่อเรื่องความพร้อมในการรับมือการระบาดระลอกสองที่อาจเกิดขึ้นได้  

 

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เข้าร่วมการถอดบทเรียนการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 โดยทีมจาก WHO องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ใน 9 เสาหลักสำคัญต่อการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 โดยมีผู้แทนของไทยเข้าร่วมกว่า 100 คนจากทุกภาคส่วน

 

ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศแรกของโลกที่เข้าร่วมการถอดบทเรียนนี้ ผลการถอดบทเรียนของประเทศไทย พบว่า ไทยสามารถดำเนินการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีและได้รับคำชื่นชมจากทีมผู้วิเคราะห์ อาทิ การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ เห็นได้จากการร่วมมือในการเฝ้าระวังโรคในผู้เดินทางจากต่างประเทศในสถานที่กักกันของประเทศไทย การแลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลทางห้องปฏิบัติการ ข้อมูลผู้เดินทางทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มอีก 28 ราย ยอดรวมแตะ 14,626 ราย

อ่วม! ทั่วโลกติดโควิด-19 ทะลุ 20 ล้านราย เสียชีวิต 7.3 แสนราย

WHO รับไม่อาจเพิกเฉย ความเป็นไปได้ "โควิด-19" แพร่เชื้อทางอากาศ

นักวิทย์สหรัฐฯ ยืนยันแล้ว! "โควิด-19" ติดกันทางอากาศ

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถตรวจจับสถานการณ์ผิดปกติได้เร็ว ทำให้สามารถตรวจจับผู้ป่วยตามนิยามฯ และผู้ป่วยยืนยันรายแรกของประเทศไทยได้ รวมทั้งมีการพัฒนานิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนการคัดกรองผู้เดินทางที่ด่านท่าอากาศยานในระยะแรก และขยายสู่ท่าเรือ และด่านช่องทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ ตามลำดับ

รวมถึงการเฝ้าระวังในชุมชนและโรงพยาบาลโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และทีมสอบสวนโรคของทุกพื้นที่จำนวนกว่า 1,000 ทีมที่มีความพร้อมในการลงพื้นที่ในการสอบสวนโรคทำให้ไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้ การสื่อสารข้อมูลแก่ประชาชนผ่านเครือข่ายสื่อสาธารณะในหลายช่องทางที่ชัดเจน สม่ำเสมอและเป็นทิศทางเดียวกัน

 

พร้อมกับการสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติของประชาชนทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนามาตรการและปรับการสื่อสารที่ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น การดูแลจัดการ และพัฒนาศักยภาพของสถานพยาบาล เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉิน โดยได้พัฒนาแนวทางและการจัดเตรียมสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ให้เพียงพอและพร้อมใช้งานได้ทันที

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าไทยจะได้รับคำชื่นชมในหลายประเด็นของแต่ละเสาหลัก แต่ก็ยังมีประเด็นที่ต้องพัฒนาเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเรื่องกฎหมายที่มีอยู่แล้ว จำเป็นต้องมีการทบทวนและพัฒนาให้ครอบคลุมมากขึ้น การพัฒนาและรวมระบบบริหารจัดการส่วนกลางด้านข้อมูล อาทิ ผลทางห้องปฏิบัติการ รายงานการเฝ้าระวังสอบสวนโรค ข้อมูลทรัพยากรทางการแพทย์และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการได้อย่างสูงสุดโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการนี้ด้วย รวมถึงการขยายและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทีมสอบสวนโรคให้มากขึ้น เพื่อรองรับการระบาดระลอกสองที่อาจมีขึ้น และโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การเฝ้าระวังในชุมชนและโรงพยาบาลโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และทีมสอบสวนโรคของทุกพื้นที่จำนวนกว่า 1,000 ทีมที่มีความพร้อมในการลงพื้นที่ในการสอบสวนโรคทำให้ไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้การสื่อสารข้อมูลแก่ประชาชนผ่านเครือข่ายสื่อสาธารณะในหลายช่องทางที่ชัดเจน สม่ำเสมอและเป็นทิศทางเดียวกัน

 

พร้อมกับการสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติของประชาชนทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนามาตรการและปรับการสื่อสารที่ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น การดูแลจัดการ และพัฒนาศักยภาพของสถานพยาบาล เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉิน โดยได้พัฒนาแนวทางและการจัดเตรียมสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ให้เพียงพอและพร้อมใช้งานได้ทันที

 

 

ทีมจาก WHO องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ยังให้ข้อเสนอแนะอีกว่า ประเทศไทยยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพ คือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เด็กเล็ก และกลุ่มเปราะบางให้ได้รับการดูแลที่ครอบคลุมและทั่วถึง ปัจจุบันการทำงานของไทยมีความเกี่ยวพันกับหลายส่วนเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพภายใต้ภาวะการระบาดของโรคโควิด19 และโรคอื่นๆ ให้กับประชาชนที่อยู่ในประเทศ

 

ทั้งนี้ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรนอกภาครัฐ และประชาชนทุกคนยังเป็นสิ่งที่จำเป็นในการป้องกันควบคุมโรค ความสำเร็จที่ไทยสามารถควบคุมการระบาดได้นั้นเกิดได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน ไม่สามารถขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปได้