"ประกันสังคม" มาตรา 40 อาชีพอิสระ ต้องอ่าน

01 ส.ค. 2563 | 20:00 น.

"ประกันสังคม" มาตรา 40 จ่ายน้อย ประโยชน์เพียบ หลักประกันชีวิต กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ

หลังจากที่ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ปรับปรุงกฎหมายใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอิสระหรือแรงงานอิสระที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ทำอาชีพอิสระ เช่น กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร รวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ผู้ที่ขายของออนไลน์ และช่างก่อสร้าง ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้ จากเดิมกำหนดหลักเกณฑ์ให้ต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

"ฐานเศรษฐกิจ"ทบทวนสิทธิประกันสังคมที่ผู้ประกันตามมาตรา 40  พบว่า จ่ายน้อย แต่ได้ผลโยชน์เยอะ ลองดูว่า มีอะไรกันบ้างจากการเลือกจ่ายเงินสมทบ 3 แนวทาง ดังต่อไปนี้

"ประกันสังคม" มาตรา 40 อาชีพอิสระ ต้องอ่าน

ทางเลือกที่ 1 กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน รัฐช่วยจ่ายสมทบให้อีก 30 บาท/เดือน รวมเป็นจ่ายสมทบ 100 บาท/เดือน

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

1.เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยและนอนโรงพยาบาลได้รับ 300 บาท/วัน ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีถ้าไม่ได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยนอก) แต่มีใบรับรองแพทย์สั่งให้หยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท สำหรับกรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกรวมกันไม่เกิน 30 วันต่อปี และกรณีแพทย์สั่งให้หยุดพักไม่เกิน 3 วัน จะได้ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2.เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ ยังให้สิทธิตามเดิม คือ ได้รับเงินทดแทน 500-1,000 บาท/เดือน เป็นเวลานาน 15 ปี โดยมีเงื่อนไข คือ

- จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 10 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 500 บาท/เดือน

 - จ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 20 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 650 บาท/เดือน

- จ่ายเงินสมทบครบ 24 เดือน ภายใน 40 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 800 บาท/เดือน

- จ่ายเงินสมทบครบ 36 เดือน ภายใน 60 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 1,000 บาท/เดือน

3.กรณีเสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 20,000 บาท (เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายใน 12 เดือนก่อนเดือนที่ตาย ยกเว้นกรณีเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ตาย) และได้เพิ่มเงินสงเคราะห์ให้อีก 3,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน

ทางเลือกที่ 2 กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน รัฐช่วยจ่ายสมทบให้อีก 50 บาท/เดือน รวมเป็นจ่ายสมทบ 150 บาท/เดือน ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

1.เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพและเงินค่าทำศพจะได้รับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1

2.ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพยังคงได้รับเหมือนเดิมซึ่งจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ซึ่งเงินบำเหน็จจะคำนวณจากเงินที่รัฐบาลอุดหนุนเดือนละ 50 บาท นำมาคูณด้วยระยะเวลาที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ และบวกด้วยเงินผลกำไรที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน

ทางเลือกที่ 3 กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน รัฐช่วยจ่ายสมทบให้อีก 150 บาท/เดือน รวมเป็นจ่ายสมทบ 450 บาท/เดือน

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

1.เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย กรณีหากเจ็บป่วยและนอนโรงพยาบาลให้อยู่ที่ 300 บาท/วัน ส่วนกรณีถ้าไม่นอนโรงพยาบาลแต่แพทย์สั่งให้หยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปจะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท (กรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกรวมกัน ไม่เกิน 90 วันต่อปี)

2.เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทน 500-1,000 บาท/เดือน ตลอดชีวิต โดยมีเงื่อนไข คือ

- จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 10 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 500 บาท/เดือน

- จ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 20 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 650 บาท/เดือน

- จ่ายเงินสมทบครบ 24 เดือน ภายใน 40 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 800 บาท/เดือน

- จ่ายเงินสมทบครบ 36 เดือน ภายใน 60 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 1,000 บาท/เดือน

3.กรณีเสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 40,000 บาท (เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายใน 12 เดือนก่อนเดือนที่ตาย ยกเว้นกรณีเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ตาย)

4.ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 200 บาท/เดือน ต่อบุตร 1 คน ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุไม่กิน 6 ปีบริบูรณ์ โดยต้องจ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อนไข 24 เดือน ภายใน 36 เดือน ทั้งนี้ สามารถใช้สิทธิ์ได้คราวละไม่เกิน 2 คน เช่น หากบุตรคนแรกอายุครบ 6 ปีแล้ว สามารถนำบุตรคนที่ 3 รับเงินสงเคราะห์บุตรแทนได้จนครบอายุ 6 ปี

5.ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน และได้รับเงินบำเหน็จที่สะสมไว้เดือนละ 150 บาทพร้อมดอกผล โดยสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 1,000 บาท/เดือน อีกทั้ง เมื่อจ่ายครบ 180 เดือน รับเงินก้อนอีก 10,000 บาท

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ ที่สะดวก รวมถึงหน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม สมัครผ่านภายใต้เครือข่ายประกันสังคม สมัครด้วยตนเองผ่านมือถือที่เว็บไซต์ http://www.sso.go.th โทรศัพท์สายด่วน 1506 ให้บริการไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง