"ซีอุย" กับปริศนา "มนุษย์กินคน"

21 ก.ค. 2563 | 19:00 น.

ชื่อของ"ซีอุย"ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากกรมราชทัณฑ์จะทำพิธีฌาปนกิจศพ "ซีอุย" หรือ หลีอุย แซ่อึ้ง ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม เมื่อ 61  ปีที่แล้ว ในวันที่ 23 กรกฏาคม 2563 เวลา 10.00 น. ที่วัดบางแพรกใต้ ต.สวนใหญ่ อ.เมืองนนทบุรี


เยาวชนคนรุ่นใหม่หรือแม้แต่คนรุ่นก่อนๆบางคนอาจจะหลงลืมไปแล้วว่า"ซีอุย"นั้นเป็นใคร ถูกจับเพราะอะไร แล้วทำไมผ่านมาจนถึงยุคสมัยนี้แล้วยังไม่มีการเผาศพของ"ซีอุย"วันนี้ฐานเศรษฐกิจจะพามาย้อนรอยที่มาที่ไปของ"ซีอุย"ให้ทุกคนได้รู้จัก

 

จากจีนแผ่นดินใหญ่สู่ไทย
ข้อมูลจากวิกิพีเดียอ้างอิงจากบันทึกคำให้การของตำรวจระบุว่า "ซีอุย" เกิดประมาณปี พ.ศ. 2464 ที่เมืองซัวเถา ประเทศจีน ต่อมาในช่วงวัยรุ่นได้ถูกเกณฑ์ไปประจำหน่วยทหารต่อสู้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่นและ เมื่อสงครามสิ้นสุดจึงถูกเกณฑ์ไปรบกับฝ่ายเหมาเจ๋อตุง ก่อนจะหนีเข้ามาเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2489


จุดเริ่มต้น "ซีอุย มนุษย์กินคน"
ในปี 2501 "ซีอุย" ถูกจับกุมที่จังหวัดระยองด้วยข้อหาฆ่า ดช.สมบุญ  บุญยกาญจน์  โดยพ่อของเด็กที่เสียชีวิตพบซีอุยกำลังเผาร่างของลูกชายเขา และ "ซีอุย"ได้ยอมรับสารภาพในคดีนี้ ซึ่งลักษณะของศพที่ถูกทำร้ายในคดีนี้ ถูกควักหัวใจและตับออกไป ส่งผลให้เป็นคดีของ"ซีอุย"กลายเป็นข่าวใหญ่ครึกโครมบนหน้าหนังสือพิมพ์ 

ภายหลังจาก "ซีอุย"รับสารภาพในคดีครั้งนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือคดีอื่นๆก่อนหน้านั้นก็ถูกส่งสำนวนมาที่จังหวัดระยอง ซึ่งมีทั้งหมด 6 คดี และในตอนแรก"ซีอุย"ได้ให้การปฏิเสธในคดีอื่นๆทั้ง 6 คดี และรับสารภาพเฉพาะคดีสุดท้ายที่ถูกจับกุมที่ระยอง แต่หลังจากนั้นไม่นาน "ซีอุย"ก็ยอมรับและสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุทั้ง 6 คดี ส่งผลให้ศาลตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2502 


ย้อนรอย 6 คดี แพะรับบาป ? 
สำหรับ 6 คดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เริ่มตั้งแต่ปี พศ. 2497

  • คดีที่  1 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2497  อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เหยื่อที่ถูกทำร้ายคือ เด็กหญิงบังอร ภมรสูตร ซึ่งในคดีแรกนี้ เหยื่อรอดชีวิต และญาติของเหยื่อให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า "ซีอุย"ไม่ใช่ผู้ทำร้ายแต่เป็นนายเกลี้ยง พี่ชายภรรยาปลัดอำเภอที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น

 

  • คดีที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2497 อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เหยื่อที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตคือ  เด็กหญิงนิด แซ่ภู่ โดยลักษณะศพถูกชำแหละ อวัยวะภายในหายไป และญาติผู้เสียชีวิตก็เชื่อว่า "ซีอุย"ไม่ได้เป็นฆาตกรตัวจริง และทุกคนพุ่งเป้าไปที่นายเกลี้ยง พี่ชายภรรยาปลัดอำเภอที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น

 

  • คดีที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2497 อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้เสียชีวิตคือ เด็กหญิงลิ้มเฮียง แซ่เล้า ลักษณะศพถูกเชือดคอ และถูกข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งภายหลังนายตำรวจผู้รับผิดชอบคดีนี้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าสามารถจับกุมผู้รายได้ 2 คน นั่นเท่ากับว่่า "ซีอุย"ไมได้เป็นผู้ก่อเหตุ แต่ไฉนเลย "ซีอุย"ถึงให้การยอมรับสารภาพ 

 

  • คดีที่ 4 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2497 อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้เสียชีวิตคือ เด็กหญิงกำหงัน แซ่ลี้ ลักษณะศพถูกเชือดคอ

 

  • คดีที่ 5 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2497 อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ผู้เสียชีวิตคือ  เด็กหญิงลี่จู แซ่ตั้ง ลักษณะศพถูกชำแหละ ซึ่งในคดีนี้ "ซีอุย" มีการสารภาพว่าผ่าหัวใจและตับ อวัยวะเพศ แต่จริงๆเมื่อตรวจพบกลับมีแค่อวัยวะเพศเท่านั้นที่หายไป 

 

  • คดีที่ 6 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2500 อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม  ผู้เสียชีวิตคือ  เด็กหญิงซิ่วจู แซ่ตั้ง    ลักษณะศพถูกชำแหละ อวัยวะภายในหายไป และ"ซีอุย"ให้การสารภาพว่าผ่าหัวใจและตับ แต่ในความเป็นจริงคือเครื่องในยังอยู่ครบ


ถือเป็น 6 คดีที่แม้จะผ่านไปไม่รู้กี่ปี แต่ก็ยังมีคำถามว่าแท้จริงแล้ว"ซีอุย"เป็นผู้ก่อเหตุจริงหรือไม่ เพราะแรกเริ่มที่ปฏิเสธทั้ง 6 คดี แต่ภายหลังกลับให้การสารภาพ และจึงเป็นที่มาของการถูกตัดสินประหารชีวิต 
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

จากนักโทษสู่พิพิธภัณฑ์
"ซีอุย" ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2502 หลังจากนั้นทางคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราช ได้ขอนำร่าง"ซีอุย"มาเพื่อผ่าศพทำการศึกษาและพิสูจน์หาความผิดปกติเป็นกรณีพิเศษเนื่องจาก "ซีอุย" มีลักษณะเป็นฆาตกรที่เรียกว่า serial killer เมื่อทำการผ่าตรวจสมองเสร็จ ส่วนร่างก็ถูกเก็บรักษาในลักษณะดองแห้ง โดยการฉีดฟอร์มาลินเข้าหลอดเลือด แช่น้ำยารักษาทั้งร่างไว้ 1 ปี และทาขี้ผึ้งทุกๆ 2 ปี เพื่อป้องกันเชื้อรา และร่างของซีอุยก็ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์นิติวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราชนับตั้งแต่นั้นมา และมีการเขียนข้อความว่า ‘นายซีอุย แซ่อึ้ง (มนุษย์กินคน) 


เรียกร้องความเป็นธรรม"ซีอุย"
ต่อมามีชาวบ้าน อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่าการจัดแสดงนิทรรศการศพ"ซีอุย" ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้เสียชีวิต เนื่องจากผู้ต้องหาได้เสียชีวิตไปนานแล้ว ไม่ควรจะลิดรอนสิทธิ์ จึงได้ประสานไปยังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว 


ไม่ใช่เฉพาะเสียงของชาวบ้าน ทับสะแก จ. ประจวบคีรีขันธ์ เท่านั้นที่ออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของ "ซีอุย" แต่ยังมีการเรียกร้องให้นำศพ "ซีอุย" ออกจากโรงพยาบาลศิริราช เพราะเห็นว่าซีอุยไม่ใช่ฆาตกรตัวจริงของเหยื่อทั้งหมด

 

ขณะเดียวกันก่อนหน้านั้นในปี 2561 ก็มีแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อในเว็บไซด์ Change.org ในหัวข้อ “นำร่าง ซีอุย แซ่อึ้ง ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล้างฉายามนุษย์กินคน” ซึ่งภายหลังจากกระแสสังคมถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง แคมเปญนี้ก็มีผู้เข้ามาร่วมลงชื่อกันเป็นจำนวนมากขึ้น

 

ด้วยกระแสการเรียกร้องดังกล่าว ทำให้ทางโรงพยาบาลศิริราชได้ปลดป้าย ‘มนุษย์กินคน’ ออกไปในช่วงกลางปี 2562  พร้อมทั้งเตรียมจัดทำบอร์ดให้ความรู้แก่สาธารณะเกี่ยวกับคดี นอกจากนั้นแล้วก็ได้พิจารณาเรื่องการเผาศพ "ซีอุย" อย่างไรก็ตามกระบวนการต่างๆต้องใช้เวลา ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมเอกสารสำคัญ ได้แก่ ใบมรณบัตร ใบส่งมอบร่างจากกรมราชทัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อให้ดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและปราศจากข้อโต้แย้งจากทุกภาคส่วน

 

อีกทั้งยังได้ประกาศตามหาญาติ "ซีอุย"เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดการร่างของ" ซีอุย" ซึ่งหากไม่มีใครมาแสดงตัวทางโรงพยาบาลก็มีสิทธิ์อันชอบธรรมในการจัดการศพต่อไป พร้อมกันนั้นได้ยกเลิกการจัดแสดงร่างของ "ซีอุย" 
 

ปิดตำนาน"ซีอุย"เตรียมเผา 23 ก.ค.
เรื่องราวอันเป็นปริศนาของ"ซีอุย"ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ซึ่งรอบล่าสุดนี้กรมราชทัณฑ์ออกประกาศว่า จะเป็นผู้รับร่าง "ซีอุย" หรือ นายลีอุย แซ่อึ้ง ไปบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจตามประเพณี ณ วัดบางแพรกใต้ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี  ในวันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.00 น. โดยมีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลร่วมเป็นเจ้าภาพในพิธีฌาปนกิจ

 

เรียกได้ว่าปิดตำนานเรื่องราวของ "ซีอุย" ที่จนทุกวันนี้ยังไม่สามารถไขคำตอบได้ว่าแท้จริงแล้วเขาเป็น"ฆาตกรตัวจริงใน 6 คดีนั้นจริงหรือไม่" แล้วการตั้งฉายา "มนุษย์กินคน" หรือ "ซีอุยกินตับ"นั้น เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ 
 

ข้อมูล จากวิกิพีเดีย ,บีบีซีไทย