เปิดวิถีชีวิต "ลิงเก็บมะพร้าว ชายแดนใต้" ภูมิปัญญา ที่อยากบอกให้ก้องโลก

11 ก.ค. 2563 | 01:25 น.

ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา เผยแพร่เรื่องราว "ชายแดนใต้ก็มีลิงเก็บมะพร้าว" วิถีชีวิต ภูมิปัญญา ไร้ทรมาน ระบุตอนท้าย เป็นเสียงจากสวนมะพร้าว ที่อยากให้ดังก้องไปถึงอีกฟากหนึ่งของโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ศูนย์ข่าวภาคใต้” สำนักข่าวอิศรา เผยแพร่สกู๊ปรายงานพิเศษ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 63 เรื่อง  “ชายแดนใต้ก็มีลิงเก็บมะพร้าว...วิถีชีวิต ภูมิปัญญา ไร้ทรมาน” เนื้อหาระบุว่า

 

ในกระแสที่ชาติตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษรณรงค์ให้แบนสินค้าไทยที่ผลิตจากมะพร้าว โดยอ้างเหตุผลว่าใช้แรงงานลิง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการทรมานสัตว์นั้น

 

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ในกลุ่มจังหวัดที่มีสวนมะพร้าวและมีผลผลิตจากมะพร้าวจำนวนมากในแต่ละปี นอกจากจังหวัดขึ้นชื่ออย่าง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชแล้ว จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างปัตตานี และนราธิวาส ก็มีผลผลิตติดอันดับท็อปเท็นของประเทศด้วยเช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมเจรจาการค้าฯ เร่งแก้ปัญหา ลิงเก็บมะพร้าว

NEWSROOM 08-07-63 "พาณิชย์" เคลียร์ปม "ลิงเก็บมะพร้าว"

ปม "ลิงเก็บมะพร้าว" เดือด "ปองพล" ขุดคดี PETA ย้อนถามรักลิงจริงหรือ

"ลิงเก็บมะพร้าว" สะเทือนกะทิ "ชาวเกาะ" ยอดขายร่วง

 

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ณ ปี 2562 จ.ปัตตานี มีผลผลิตมะพร้าวถึง 26,240 ตัน และนราธิวาส 18,043 ตัน จากผลผลิตภาพรวมทั้งประเทศ 788,178 ตัน

และในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีการเลี้ยงลิงคล้ายกับพื้นที่อื่นที่มีสวนมะพร้าวมากๆ แต่ทุกคนยืนยันตรงกันว่าไม่มีการใช้แรงงานลิงในระบบอุตสาหกรรม หรือการกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายการทรมานสัตว์

เปิดวิถีชีวิต "ลิงเก็บมะพร้าว ชายแดนใต้" ภูมิปัญญา ที่อยากบอกให้ก้องโลก

"ตอนที่ได้ยินข่าวก็คิดทันทีเลยว่ามันไม่ใช่แล้วแบบนี้ เพราะเรื่องจริงคนที่เลี้ยงลิงเขาจะรักลิง เหมือนเพื่อนเหมือนลูก ชีวิตเขาทั้งวันจะอยู่กับลิง แบบว่าเรากินอะไรลิงจะกินด้วย เรากินข้าวกับแกงส้ม แกงมัสมั่น ลิงเราก็จะได้กิน และจะรักเรา หอมเรา ผูกพัน มีความคิดถึงกัน ถ้าวันไหนไม่ได้อยู่ด้วยกันก็คิดถึง มันเป็นความรู้สึกของความรักและผูกพัน ไม่ใช่เรื่องของการใช้แรงงาน"

 

เป็นความรู้สึกจากใจของ อนุชา แวนแก้ว วัย 47 ปี คนเลี้ยงลิงจาก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยอนุชาไม่ได้เลี้ยงแค่ตัวเดียว แต่มีถึง 3 ตัว

 

"ผมมีลิง 3 ตัว รักเหมือนลูกเหมือนเพื่อน เหงาเราก็หยอกเล่น หอมแก้มกัน ตอนทำงานก็ช่วยกัน เรื่องทรมานคิดว่าไม่ใช่เลย คงมีบ้างที่ลิงดื้อ เราก็ชักเชือกเพื่อให้ลิงมีสติแล้วกลับมาทำงาน ส่วนใหญ่คนเลี้ยงลิงจะรักลิง จะเห็นว่าลิงจะอยู่ได้กับเฉพาะเจ้าของ คนอื่นเข้าใกล้ไม่ได้ เขาจะรักเจ้าของ ห้ามไปทำอะไรเจ้าของเขาด้วย"

 

อนุชาเลี้ยงลิงมานานหลายปี ที่เขาเล่าว่าทำงานด้วยกัน คือช่วยกันเหมือนเพื่อน แต่ไม่ได้ใช้แรงงานลิง และไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว

 

"5 ปีแล้วที่เราอยู่ด้วยกัน เช้าตื่นมาก็พาลิงไปข้างนอก กลับมาพร้อมมะพร้าวที่เพื่อนบ้านจ้าง พอทำงานเสร็จเราก็จะมานั่งกินข้าวพร้อมกัน ลิง 1 ตัวขึ้นมะพร้าวได้วันละ 200 ลูก เพียงพอแล้วกับรายได้ของเรา ช่วงที่มะพร้าวแพงก็สามารถเก็บเงินได้ แต่ช่วงฝนตกลิงจะขึ้นมะพร้าวไม่ได้ ร้อนมากๆ อย่างเดือน มี.ค. เม.ย. มะพร้าวไม่เป็นลูก ส่วนช่วงนี้มะพร้าวขาด โควิดก็แย่แล้วมาเจอเรื่องนี้อีก วันนี้ได้ค่าจ้างแค่ 120 บาท ทำกันทั้งวัน จากปกติได้เป็นพันบาท"

 

แม้จะไม่ได้เก็บมะพร้าวส่งโรงงานอุตสาหกรรม แต่กระแสแบนสินค้าไทยก็ทำให้มะพร้าวล้นตลาด ส่งผลให้ราคาถูกลง สุดท้าย..ผลกระทบก็มาถึงชาวบ้านเก็บมะพร้าวธรรมดาๆ อย่างอนุชาอยู่ดี

 

"เราทำเป็นงานครอบครัว ไปหามะพร้าวมาให้แฟนแปรรูปเป็นกะทิขายในตลาด แต่พอรายใหญ่ไม่ส่งออก มะพร้าวก็ล้นตลาด ราคาก็จะถูกลง เราตัวเล็กๆ ก็พลอยกระทบไปด้วย ในอนาคตจะยิ่งหนักถ้ายังไม่มีการแก้ปัญหา อาจจะต้องเลิกอาชีพนี้ไปเลย"

 

ผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนเก็บมะพร้าว แต่เจ้าของร้านกะทิใน อ.โคกโพธิ์ อย่าง น.ส.ตอยยีบะ สามะ ก็บอกว่าสะเทือนถึงเธอด้วยเช่นกัน

 

"มันกระทบหนัก เพราะทำให้มะพร้าวราคาถูก เราคนแปรรูปมะพร้าวมาเป็นกะทิ ราคาก็ถูกตาม ช่วงโควิดทำให้เราแย่แล้ว ร้านค้าต้องปิด คนซื้อกะทิก็น้อยลง เราขายแบบบ้านๆ แม่ค้าทำอาหารบางคนไม่มีเงินทุน บอกขอเอากะทิไปก่อน เย็นๆ มาจ่าย เราก็ต้องให้ บางวันเขาขายของไม่ได้ก็ค้างเราไว้อีก ที่ผ่านมาก็แย่แบบนี้อยู่แล้ว มาเจอกระแสจากฝรั่งอีก ทำให้แย่หนักกว่าเดิม

ในมุมของของ ตอยยีบะ การใช้ลิงขึ้นมะพร้าวเป็นวิถีชีวิต และเป็นการทำมากินระดับครัวเรือนของคนชายแดนใต้ ไม่ใช่การทรมานสัตว์ ฉะนั้นหากกระแสเรื่องนี้แรงถึงขั้นห้ามลิงทำงาน เธอเองก็คงต้องเลิกอาชีพนี้เช่นกัน

 

"เพราะจะให้เราไปจ้างคนขึ้นมะพร้าว ก็ต้องมีค่าจ้างอย่างน้อยวันละ 300 บาท ต้องเลี้ยงข้าวเขาอีก รายจ่ายเพิ่ม ต้นทุนเราก็เพิ่ม ราคากะทิก็ต้องแพงขึ้น พอขายแพง คนก็ไม่มีเงินซื้อ กระทบกันไปหมด ก็หวังว่ารัฐบาลจะหาทางออกกับปัญหานี้ได้โดยเร็ว "

 

ที่ จ.ยะลา แม้จะมีสวนมะพร้าวไม่มากนัก แต่มีโรงเรียนสอนลิง นายอิบรอเฮง ตาเละ ครูสอนลิงจาก จ.ยะลา เล่าว่า สืบทอดการเป็นครูสอนลิงมาแบบรุ่นสู่รุ่น ตนเองเป็นรุ่นที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้แล้ว บอกได้แต่ว่าสอนลิงมาหลายร้อยตัว

 

"แรกๆ ก็สอนเพื่อเอาไปขึ้นมะพร้าว พอหลังๆ มีคนมาขอซื้อลิง ไม่ใช่แค่เอาลิงมาให้สอน เราก็ขายแบบกันเอง 5,000 บาทบ้าง 10,000 บาทบ้าง ส่วนใหญ่เป็นลิงกัง คนในพื้นที่นิยมเลี้ยงลิงกังมากกว่าลิงแสม"

 

"เราสอนลิงให้กับคนที่ต้องการลิงไปขึ้นมะพร้าว ไปขึ้นสะตอ ขึ้นกล้วย ลิงขึ้นหมด อยู่ที่เราสอน เราสอนอะไรเขาจะได้อย่างนั้น แล้วแต่คนว่าจะพาไปขึ้นอะไร จะเริ่มสอนตั้งแต่เล็กๆ เลย เพราะสอนง่าย เหมือนเด็กเล็กๆ จะรับอะไรง่าย เราก็สอนให้เล่น สอนให้ดมมะพร้าวก่อน เพื่อให้รู้จักมะพร้าว แยกมะพร้าวอ่อนมะพร้าวแก่ได้ และจะสอนให้กัดมะพร้าวด้วย ส่วนสะตอ กล้วย หรือผลไม้ชนิดอื่นก็เหมือนกัน ให้ลิงขึ้นหมากก็ยังได้ อยู่ที่ว่าคนที่จะซื้อเขาจะเอาแบบไหน แต่ส่วนใหญ่เขาจะเอาแบบทำเป็นทุกอย่าง"

 

อิบรอเฮง บอกด้วยว่า คนที่ซื้อลิงไป แทบทุกรายก็จะเอาไปช่วยทำงาน แต่เป็นการทำมาหากินในครอบครัว เป็นวิถีชีวิต เป็นภูมิปัญญา ไม่ใช่กิจการอะไรใหญ่โต แล้วพออยู่กันทุกวัน ก็จะเกิดความรักความผูกพัน ไม่เคยได้ยินเรื่องการทรมาน

 

"เราเองต้องรักลิงด้วย ถึงจะอยู่กับมันได้ สอนมันได้ ถ้าเราไม่รักก็สอนไม่ได้ ครูลิงก็เหมือนครูของลูกเรา ลิงก็เหมือนคน อย่าคิดว่าการที่เราให้ลิงขึ้นมะพร้าวคือการใช้แรงงานลิง หรือการทรมานลิง แต่มันคือภูมิปัญญาที่มีมายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ฝรั่งไม่เข้าใจหรอกเรื่องแบบนี้ เขาจึงคิดหรือมองเรื่องแบบนี้ไม่เป็น มองเป็นเรื่องแย่ไปได้อย่างไร ยังแปลกใจที่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ทั้งที่ไม่น่าเกิด"

 

เป็นเสียงจากสวนมะพร้าวชายแดนใต้ที่อยากให้ดังก้องไปถึงอีกฟากหนึ่งของโลก..

 

ที่มา ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา