ศบค.เผยผลสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเอง คนไทยการ์ดเริ่มตก

09 ก.ค. 2563 | 06:18 น.

ศบค.เผยผลสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเอง มีแนวโน้มลดลง คนในต่างจังหวัดยังคงดูแลตัวเองได้ดีกว่าคนกรุงเทพฯ

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ตอนหนึ่งถึงผลการสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเองของคนไทยว่า มีแนวโน้มลดต่ำลง ทั้งการสวมหน้ากาก กินร้อน-ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เอามือลูบหน้า-จมูก-ปาก โดยคนในต่างจังหวัดยังคงดูแลตัวเองได้ดีกว่าคนกรุงเทพฯ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่าการ์ดเริ่มตก ขณะที่สถานการณ์มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น  โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทย์ศาสตร์รพ.รามาธิบดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระหว่างมาตรการผ่อนปรน โดยเชิญชวนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 77 จังหวัด ใช้แบบสอบถามไปสอบถามประชาชนใช้เวลา 7 สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 15 พ.ค. - 2 ก.ค. 2563 เพื่อดูพฤติกรรมคนไทย โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 407,008 ราย

ศบค.เผยผลสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเอง คนไทยการ์ดเริ่มตก

 ผลสำรวจพบว่า ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศพฤติกรรมป้องกันตนเองอยู่ที่ 0.84 จากคะแนนเต็ม คือ 1 แต่หากแยกเฉพาะเรื่อง โดยเรื่องหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย อยู่ที่ 0.92 กินร้อนช้อนกลางตัวเอง 0.90 ล้างมือ 0.88 ไม่อยู่ใกล้คนอื่นน้อยกว่า 2 เมตร 0.79 และระวังไม่เอามือไปจับหน้าจมูกอยู่ที่ 0.73 เมื่อดูตามช่วงเวลา ตั้งแต่ 17 พ.ค. ที่ผ่อนคลายระยะที่ 2 ถึงวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่อนคลายระยะที่ 5 แต่ละพฤติกรรมความร่วมมือแต่ละด้านถือว่าลดลงทุกพฤติกรรม ทั้งใส่หน้ากาก ล้างมือ กินร้อนช้อนกลาง อย่างภาพรวมวันที่ 17 พ.ค. อยู่ที่ 85.3% เมื่อถึง 1 ก.ค. เหลือ 80.7% หากถามว่าการ์ดตกหรือไม่ เห็นภาพชัดว่าการ์ดตกแน่นอน ซึ่งมาตรการระยะหลังมีความเสี่ยงสูง ต้องพึงระวังด้วย

ส่วนการใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะพบว่า ตลาดสดและร้านค้าในตลาดยังไม่มีการใช้งานมากถึง 46.9% ส่วนสาเหตุที่ประชาชนไม่ได้เช็คอินเนื่องจากลืม, ไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัว, ผู้ประกอบการไม่มี QR Code หรือสมุดให้ลงทะเบียน

สำหรับนโยบายการรับคนไทยกลับจากต่างประเทศภายใต้มาตรการนั้นประชาชนส่วนใหญ่ 88.6% ให้การสนับสนุน ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ 45.2% ไม่สนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศกับประเทศที่มีการติดเชื้อต่ำ (Travel Buble) และประชาชนส่วนใหญ่ 55.3% มั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอกสองได้

โฆษก ศบค.กล่าวว่า กรณีแขกรัฐบาลจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในช่วงสั้นๆ จะมีมาตรการรัดกุมเพียงพอ และไม่จำเป็นที่จะต้องกักตัวทีมงานที่เข้าไปดูแล เพราะจะมีแนวทางปฏิบัติในการดูแลตัวเองให้เกิดความปลอดภัยอยู่แล้ว ส่วนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาตามโครงการ Medical&Wellness Program นั้นมีมาตรการดูแลที่คำนึงถึงความปลอดภัยและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 85 แห่ง โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำลังจัดทำแผนงานท่องเที่ยวที่จะมารองรับกลุ่มต่างชาติในโครงการนี้ที่ผ่านการกักตัวครบกำหนดแล้วไปท่องเที่ยวต่อในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ