ชี้เป้า 4 จุด ชมดาวพฤหัสบดีใกล้โลกสุดในรอบปี 14 ก.ค.นี้

09 ก.ค. 2563 | 03:19 น.

NARIT ชวนชมดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี 14 ก.ค.นี้ ปรากฏสว่างเด่นชัด ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ นานตลอดคืนถึงรุ่งเช้า หากท้องฟ้าใสไร้เมฆฝนสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วไทย พร้อมจัด 4 จุดชมฟรี

เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยแพร่ข้อความระบุว่า ชวนชม #ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี



14 กรกฎาคม 2563 NARIT ชวนชม “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ปรากฏสว่างเด่นชัด ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ นานตลอดคืนถึงรุ่งเช้า หากท้องฟ้าใสไร้เมฆฝนสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วไทย

#ดาวพฤหัสบดี จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) โดยมีโลกคั่นกลางเรียงกันในแนวเส้นตรง ส่งผลให้ตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 619 ล้านกิโลเมตร เมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าจะมองเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สุกสว่างมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน มีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ -2.8 (ค่าอันดับความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าอันดับความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเเก่การสังเกตการณ์อย่างยิ่ง

พิเศษสุด‼️ NARIT เตรียมตั้งกล้องโทรทรรศน์จัดส่องแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวาร พบกันที่ 4 จุดสังเกตการณ์หลัก เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ในรูปแบบ New Normal ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย

จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง

- อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 

- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา 

- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา 

- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา 

 

ที่มา : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ให้ข้อมูลของดาวพฤหัสบดีไว้ว่า 

ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 5 และเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ นอกจากดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์แก๊สดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะได้แก่ ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ชื่อละตินของดาวพฤหัสบดี (Jupiter) มาจากเทพเจ้าโรมัน สัญลักษณ์แทนดาวพฤหัสบดี คือ ♃ เป็นสายฟ้าของเทพเจ้าซุส

ดาวพฤหัสบดีมีมวลสูงกว่ามวลของดาวเคราะห์อื่นรวมกันราว 2.5 เท่า ทำให้ศูนย์ระบบมวลระหว่างดาวพฤหัสบดีกับดวงอาทิตย์ อยู่เหนือผิวดวงอาทิตย์ (1.068 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์ เมื่อวัดจากศูนย์กลางดวงอาทิตย์) ดาวพฤหัสบดีหนักว่าโลก 318 เท่า เส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่าโลก 11 เท่า และมีปริมาตรคิดเป็น 1,300 เท่าของโลก เชื่อกันว่าหากดาวพฤหัสบดีมีมวลมากกว่านี้สัก 60-70 เท่า อาจเพียงพอที่จะให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์จนกลายเป็นดาวฤกษ์ได้

ดาวพฤหัสบดีหมุนรอบตัวเองด้วยอัตราเร็วสูงที่สุด เมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะ ทำให้มีรูปร่างแป้นเมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ นอกจากชั้นเมฆที่ห่อหุ้มดาวพฤหัสบดี ร่องรอยที่เด่นชัดที่สุดบนดาวพฤหัสบดี คือ จุดแดงใหญ่ ซึ่งเป็นพายุหมุนที่มีขนาดใหญ่กว่าโลก

โดยทั่วไป ดาวพฤหัสบดีเป็นวัตถุที่สว่างที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในท้องฟ้า (รองจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวศุกร์ อย่างไรก็ตาม บางครั้งดาวอังคารก็ปรากฏสว่างกว่าดาวพฤหัสบดี) จึงเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ การค้นพบดาวบริวารขนาดใหญ่ 4 ดวง ได้แก่ ไอโอยูโรปาแกนีมีด และคัลลิสโต โดยกาลิเลโอ กาลิเลอี เมื่อ ค.ศ. 1610 เป็นการค้นพบวัตถุที่ไม่ได้โคจรรอบโลกเป็นครั้งแรก นับเป็นจุดที่สนับสนุนทฤษฎีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางที่เสนอโดยโคเปอร์นิคัส การออกมาสนับสนุนทฤษฎีนี้ทำให้กาลิเลโอต้องเผชิญกับการไต่สวน ดาวพฤหัสบดี หมุนรอบตัวเองใช้เวลา 10 ชั่วโมง