ทำความรู้จัก"กาฬโรค"คืออะไร เหตุไฉนถึงต้องผวาโรคระบาดนี้

07 ก.ค. 2563 | 07:33 น.

พลันที่ชื่อของ"กาฬโรค" เกิดขึ้นในประเทศจีน(อีกครั้ง)ก็ทำเอาประชากรโลกผวา เพราะปัจจุบันแค่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ยังไม่สามารถผลิตวัคซีนออกมาป้องกันได้ หากมีการแพร่ระบาดของ "กาฬโรค"เข้ามาเป็นดาบสอง ก็ยิ่งสร้างความตระหนกตกใจและสะพรึงไม่น้อย 


สำหรับการพบผู้ป่วย "กาฬโรค" ในประเทศจีนครั้งล่าสุดนี้(6 ก.ค.63) เกิดขึ้นที่เขตปกครองตนเองมองโกเลีย และทางการจีนได้ออกประกาศเตือนภัยระดับที่ 3 จากทั้งหมด 4 ระดับ พร้อมห้ามชาวบ้านล่าสัตว์ป่ามาเพื่อการบริโภค ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีนยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรคและยังไม่ทราบรายละเอียดของผู้ป่วยรายว่าติดเชื้่อมาได้อย่างไร


รู้จัก "กาฬโรค" หรือ "มฤตยูดำ" 
แม้โรคดังกล่าวจะเกิดขึ้นในประเทศจีน และอาจจะดูห่างไกลสำหรับคนไทย แต่วันนี้ฐานเศรษฐกิจก็จะพาไปรู้จัก "กาฬโรค" ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แบ่งเป็นประเภทไหน มีการติดต่อกันอย่างไร รวมไปถึงวิธีการป้องกันตนเอง นอกจากนั้นแล้วจะพาไปทำความรู้จักว่าโรคระบาดนี้มีความน่ากลัวอย่างไร 


ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า "กาฬโรค" หรือที่ขนานนามกันว่าเป็น "มฤตยูดำ" หรือ "Black Death" เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียรูปแท่งชื่อ เยอร์ซิเนีย เพสติส ( Yersinia pestis) พบเชื้อครั้งแรก ในปี 2437 โดย Yersin & Hitasato เดิมแบคทีเรียสปีชีส์นี้ จัดอยู่ในจีนัส Pasteurella  โดยจะแบ่งกาฬโรค ออกเป็น 3 ชนิดได้แก่ 


1. ชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เป็นชนิดที่อ่อนที่สุด และพบบ่อยที่สุด มีอาการคือ บริเวณต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบนั้นจะบวมแดงและนิ่ม เวลากดจะเจ็บ ตำแหน่งที่พบได้แก่ ข้างคอ ขาหนีบ รักแร้ อาจมีไข้ร่วมด้วย ถ้าไม่รักษาจะกลายเป็นชนิดที่ 2 คือ เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดแบคทีเรีย Yersinia pestis 


 2. ชนิดเชื้อในกระแสเลือด มักจะลุกลามจากชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มีอาการคือ มีไข้สูงความดันเลือดต่ำ ช็อก หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย เพ้อ หมดสติ เลือดออกในอวัยวะต่างๆ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 3-5 วัน หรือภายในไม่กี่ชั่วโมง


3. ชนิดกาฬโรคปอด อาจเกิดตามหลังจาก 2 ชนิดแรก หรือติดเชื้อจากคนไอจาม รดกัน มีอาการคือ ปอดบวม ไอเป็นน้ำ เสมหะไม่เหนียว ต่อมาจะมีเลือดปน อ่อนเพลีย มีไข้เหมือนกับ 2 ชนิดแรก หากไม่ได้รับการรักษา จะตายเร็วมากภายใน 1-3 วัน 
 

 

การติดต่อ -การบำบัดเชื้อกาฬโรค 
สำหรับ "กาฬโรค" หรือ Black Death ติดต่อได้ 2 แบบ คือ


1.ติดต่อทางผิวหนัง เนื่องจากกาฬโรคเป็นโรคติดต่อที่มีสัตว์ฟันแทะจำพวกหนู กระแต กระรอก และกระต่าย เป็นพาหะนำโรค สัตว์ที่พบมักเป็นโรคบ่อยได้แก่ หนู ประเภท Rattus โดยมีหมัดเป็นพาหะ มักเป็นพวก Xenopsylla cheopis ที่พบเกิดการระบาดในคนบ่อยๆ เชื้อสามารถอยู่ในตัวหมัดได้เป็นเดือน ขึ้นอยู่กับสภาพความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม เมื่อหมัดหนูดูดเลือดจากตัวหนู หรือสัตว์ฟันแทะอื่นๆ ที่มีเชื้อกาฬโรคอยู่ในตัวของสัตว์นั้นแล้วมากัดคน เชื้อจะเข้าทางบาด แผล อีกกรณีคือ คนที่มีบาดแผลไปสัมผัสกับหนูที่มีเชื้อโรค


2. ติดต่อทางการหายใจ โดยคนสูดเอาละอองเชื้อโรค(ไอ จาม เสมหะ)จากผู้ที่เป็นโรค หรือจากหนู หรือจากหมัดหนู สูดเข้าไป กลายเป็นกาฬโรค ชนิดที่ติดเชื้อทางกระแสเลือดหรือกาฬโรคปอด ชนิดนี้รุนแรงและเสียชีวิตได้ง่าย 


ส่วนการบำบัดเชื้อกาฬโรค ทางการแพทย์จะให้ ผู้ป่วยกาฬโรคแยกห้อง เพื่อมิให้เชื้อแพร่กระจาย ซึ่งยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษากาฬโรคได้แก่ 1.สเตรปโตมัยซิน 2.คลอแรมเฟนิคอล 3.เตตราซัยคลีน 4.โคไตรม็อกซาโซล บุคลากรที่ทำการรักษาผู้ป่วย ต้องมีความ ระมัดระวังอย่างยิ่งยวด ต้องสวมถุงมือ ปิดปาก จมูก และต้องทำลายเชื้อจากเลือด น้ำเหลืองและหนองของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ 


ขณะที่วิธีการป้องกันตัวให้พ้นภัยเชื้อร้ายมีหลักง่าย ๆ คือ รักษาอนามัยของตนเอง และกำจัดหนูกำจัดหมัด กำจัดที่ซ่อน หรือแหล่งอาหารของหนู รักษาความสะอาดที่พักอาศัยให้ถูกสุขลักษณะ
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

พลิกปูมประวัติศาสตร์การแพร่ระบาดของ "เชื้อกาฬโรค" 
สำหรับ เชื้อกาฬโรค นับเป็นโรคระบาดจากสัตว์สู่คนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและยังเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน ในอดีตมีการระบาดใหญ่ของเชื้อร้ายเกิดขึ้นประมาณ  3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในคริสตวรรษที่ 6 เรียกการระบาดครั้งนั้นว่า Plague of justinian การระบาดเริ่มจากประเทศอียิปต์ไปสู่ทวีปยุโรป โดยเฉพาะที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล จากบันทึกระบุว่ามีคนตายวันละหมื่นคน ถือเป็นฝันร้ายที่ยาวนานของชาวโลก เพราะ มฤตยูดำระบาดติดต่อ กันเป็นระยะเวลาประมาณ 50 ปี เหตุการณ์ครานั้นมีคนตายหลายล้านคน 


ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในคริสตวรรษที่14 เรียกการระบาดครั้งนั้นว่า "The Black Death" (กาฬมรณะ) เชื้อร้ายลุกจากหลุม โดยเริ่มต้นจากตอนใต้ของประเทศอินเดียและจีนผ่านประเทศอียิปต์เข้าสู่ประเทศยุโรป มีการระบาดในอิตาลีเมื่อปี พ.ศ. 1889 เรียกว่า "Great Mortality" และมีการระบาดเป็นระยะตลอดคริสตวรรษที่ 15, 16, 17ในปี พ.ศ.2208 เกิดการระบาดใหญ่ที่กรุงลอนดอน มีคนตายเป็นจำนวน 60,000 คน จากประชากร 450,000 คน เรียกว่า "The Great Plague of London" การระบาดในยุโรป ครั้งนั้นมีประชากรมากถึง 25 ล้านคน ต้องสังเวยชีวิตให้เชื้อร้าย 


ส่วนการระบาดครั้งที่ 3 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกปี พ.ศ. 2439 มีการระบาดเข้าสู่สิงค์โปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ ฮาไวอี อาระเบีย เปอร์เซีย เตอร์กี อียิปต์ และแอฟริกาตะวันตก เข้ารัสเชีย และในทวีปยุโรป เข้าสู่อเมริกาเหนือ และเม็กซิโกมีรายงานระหว่างปี พ.ศ. 2443-2444 ในภาคตะวันออกของจีน มีคนตายประมาณ 60,000 คน ปี พ.ศ. 2453-2454 ที่แมนจูเลียมีคนตายประมาณ 10,000 คน ต่อมามีรายงานการระบาดที่รัฐแคลิฟอร์เนียและประเทศรัสเซีย 


สำหรับในประเทศไทย เชื้อได้อาละวาด ล้างผลาญชีวิตผู้คนไม่แพ้ที่อื่น โดยนายแพทย์เอช แคมเบล ไฮเอ็ด เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล ( Principal Medical Officer of Bangkok City) ได้รายงานการพบ กาฬโรค ครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2447 เกิดขึ้นที่บริเวณตึกแดงและตึกขาว เป็นโกดังเก็บสินค้า จังหวัดธนบุรี พื้นที่บริเวณนั้น เป็นที่อยู่ของพ่อค้าชาวอินเดียหลังจากนั้น มฤตยูดำ ลุกลามอย่างรวมเร็วข้ามฟากมาฝั่งพระนคร และกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ที่มีการติดต่อค้าขายกับกรุงเทพฯ โดยทางบก ทางเรือและทางรถไฟทว่าเหตุการณ์ครานั้นไม่มีสถิติจำนวนผู้ป่วยตายที่แน่นอน 


จากการสืบค้นพบรายงานปรากฏก่อนปี พ.ศ. 2456 ที่จังหวัดนครปฐม มีคนตายด้วยกาฬโรค 300 คน ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2495 มีรายงานผู้ป่วย 2 รายตาย 1 ราย ที่ตลาดตาคลี  และนับตั้งแต่นั้นก็ไม่มีข้อมูลการเกิดระบาดของกาฬโรคในประเทศไทยอีกเลย 

          
ที่มาข้อมูล  หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ,กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข