ประวัติ วันเข้าพรรษา

05 ก.ค. 2563 | 21:00 น.

ความหมายของ วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มอยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือนในช่วงฤดูฝน เมื่อปี 2551 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้เป็น วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ในปีถัดมาได้ประกาศให้วันเข้าพรรษา เป็น วันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ

วันเข้าพรรษา ถือเป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่า จะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดช่วงฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ ไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกทั่วไปว่า จำพรรษา ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ ละเว้นไม่ได้ไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม

การเข้าพรรษา ตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ วันออกพรรษา สำหรับปีนี้วันเข้าพรรษาตรงกับวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2563 และเป็นวันหยุดชดเชยวันอาสาฬหบูชาด้วย วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชาซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น เหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่างๆซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน ทั้งยังเพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในช่วงฤดูฝน ตลอด 3 เดือนนั้นเป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะมาอยู่จำพรรษารวมกันเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย สำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร และฟังพระธรรมเทศนา

ในวันสำคัญนี้จะมีการถวายหลอดไฟ หรือ เทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา ในอดีตชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่อมีอายุครบบวช 20 ปี จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือนนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เวียนเทียนออนไลน์-เข้าพรรษาออนไลน์" วิถีใหม่ชาวพุทธ

ไปรษณีย์ไทย ชวนชาวพุทธ ถวายสังฆทาน-ปัจจัย ออนไลน์

ประวัติ “วันอาสาฬหบูชา2563”

“ทำบุญเข้าพรรษา”ททท. ชวนพุทธศาสนิกชนท่องเที่ยวไหว้พระ ทำบุญทั่วไทย

เมื่อปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันเข้าพรรษา เป็น วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ด้วย ในปีถัดมายังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษา เป็น วันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษา ตลอด 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษาเพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย

ความสำคัญ-ประโยชน์ของการเข้าพรรษา

1.ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา การกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆจะช่วยให้พันธุ์พืชของต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อย ไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์

2.หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 8 - 9 เดือน ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้หยุดพักผ่อน

3.เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเองและศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย รวมถึงเตรียมการสั่งสอนให้กับประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา

4.เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับบุตรหลานที่มีอายุครบบวชซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

5.เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม งดเว้นอบายมุข และได้ฟังพระธรรมเทศนาตลอดเวลาเข้าพรรษา

การเข้าพรรษาของพระสงฆ์ตามพระวินัยปิฎก พระสงฆ์รูปใดไม่เข้าจำพรรษาอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงปรับอาบัติแก่พระสงฆ์รูปนั้นด้วยอาบัติทุกกฎ พระสงฆ์ที่อธิษฐานรับคำเข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้ว ไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่า พระภิกษุรูปนั้น "ขาดพรรษา" และต้องอาบัติทุกกฎเพราะรับคำนั้น รวมทั้งพระสงฆ์รูปนั้นจะไม่ได้รับอานิสงส์พรรษา ไม่ได้อานิสงส์กฐินตามพระวินัย และทั้งยังห้ามไม่ให้นับพรรษาที่ขาดนั้นอีกด้วย

การเข้าพรรษาของพระสงฆ์ตามพระวินัย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1.ปุริมพรรษา (เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา) คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

2.ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี แม้การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุโดยตรงที่จะละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม แต่ในการจำพรรษาของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษานั้นอาจมีกรณีจำเป็นบางอย่างทำให้พระภิกษุผู้จำพรรษาต้องออกจากสถานที่จำพรรษาเพื่อไปค้างที่อื่น พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถือว่า เป็นการขาดพรรษาโดยมีเหตุจำเป็นเฉพาะกรณีๆไป ตามที่ทรงระบุไว้ในพระไตรปิฎก ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการพระศาสนาหรือการอุปัฏฐานบิดามารดา ทั้งนี้ จะต้องกลับมาภายในเวลาไม่เกิน 7 วัน เหตุที่ทรงระบุว่า จะออกจากที่จำพรรษาไปได้ชั่วคราวนั้น เช่น

1.การไปรักษาพยาบาล หาอาหารให้ภิกษุหรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย เป็นต้น กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5 และมารดาบิดา

2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5 การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด หรือ การไปทำสังฆกรรม เช่น สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาให้พระผู้ต้องการอยู่ปริวาส เป็นต้น

3.หากทายกนิมนต์ไปทำบุญก็ไปให้ทายกได้ให้ทาน รับศีล ฟังเทศนาธรรมได้ กรณีนี้หากโยมไม่มานิมนต์ก็จะไปค้างไม่ได้ หากพระสงฆ์ออกจากอาวาสแม้โดยสัตตาหกรณียะล่วงกำหนด 7 วันตามพระวินัย ก็ถือว่า ขาดพรรษา และเป็นอาบัติทุกกฎเพราะรับคำ (รับคำอธิษฐานเข้าพรรษาแต่ทำไม่ได้)

ในกรณีที่พระสงฆ์สัตตาหกรณียะและกลับมาตามกำหนดแล้ว ไม่ถือว่าเป็นอาบัติ และสามารถกลับมาจำพรรษาต่อเนื่องไปได้ และหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกจากที่จำพรรษาไปได้ตามวินัยอีกก็สามารถทำได้โดยสัตตาหกรณียะแต่ต้องกลับมาภายใน 7 วัน เพื่อไม่ให้พรรษาขาดและไม่เป็นอาบัติทุกกฎดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ในเทศกาลเข้าพรรษามีกิจกรรมที่วัดต่างๆจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี คือ การเทศน์มหาชาติ ด้วยการพรรณนา พระประวัติพระชาติสุดท้ายของพระบรมศาสดา ถือพระชาติเป็นพระเวสสันดรบริจาคทานอันยิ่งใหญ่ ก่อนที่จะประสูติเป็น เจ้าชายสิทธัตถะ แห่งนครกบิลพัสดุ์ แล้วเสด็จออกผนวชแสวงหาโมกขธรรมจนได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาเอกในโลก ซึ่งการเทศน์แบ่งการพรรณนาออกเป็นตอนๆ เรียกว่า กัณฑ์ มีทั้งหมด 13 กัณฑ์ กล่าวกันว่า ผู้ที่ได้ฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง 13 กัณฑ์จะได้ไปเกิดบนสวรรค์หรือสุคติภูมิ

ข้อมูลจาก ไทยทริบูน