โรคโลหิตจางติดเชื้อในกระแสเลือด โรคร้ายคร่าชีวิต "นาธาน โอมาน"

04 ก.ค. 2563 | 20:30 น.

รู้จัก โรคโลหิตจางติดเชื้อในกระแสเลือด สาเหตุการเสียชีวิตของ “นาธาน โอมาน” อดีตศิลปินชื่อดังในวัยเพียง 45 ปี

สาเหตุการเสียชีวิตของ “นาธาน โอมาน” อดีตศิลปินชื่อดังในวัยเพียง 45 ปี หลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเนื่องจากป่วยด้วยโรคโลหิตจางติดเชื้อในกระแสเลือดนั้น เราไปทำความรู้จักกับ ภาวะโลหิตจาง หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า ภาวะซีด เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ภาวะนี้พบได้บ่อยในคนทั่วไปจะบอกว่า ใครมีภาวะโลหิตจางหรือไม่นั้น อาจดูได้จากอาการที่เกิดขึ้น

เนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ในการส่งออกซิเจนไปให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย เมื่อเม็ดเลือดแดงลดลงจึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติได้หลากหลาย อาการที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่เหนื่อยง่ายขึ้นกว่าเดิม บางคนอาจรู้สึกว่า เมื่อออกแรงทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งแล้วเหนื่อยมากขึ้น เช่น เคยเดินขึ้นบันได 2-3 ชั้นแล้วไม่เหนื่อย ต่อมากลับรู้สึกว่า เหนื่อยมาก หรือบางคนอยู่เฉยๆก็อาจรู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย บางคนอาจรู้สึกหงุดหงิด ความคิดความอ่านไม่แจ่มใส

หากเป็นโลหิตจางรุนแรง อาจกระทบการทำงานของหัวใจ เกิดภาวะหัวใจทำงานมากขึ้นจนถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้ หรือกระทบกับการทำงานของสมอง ทำให้มีอาการวูบหรือหมดสติได้ ทั้งนี้ อาการต่างๆอาจเกิดมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละคนขึ้นอยู่กับระดับของเม็ดเลือดแดงในร่างกายและความสามารถในการปรับตัวต่อภาวะโลหิตจางนั้น

ข่าวเกี่ยวข้อง

“นาธาน โอมาน” เปิดชีวิตที่ไม่ต้องพิสูจน์อีกแล้ว

“นาธาน โอมาน” เสียชีวิตแล้ว

อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่แล้วสามารถตรวจพบภาวะโลหิตจางได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ เช่น พบจากการตรวจเลือดเวลาไปบริจาคเลือด และ การตรวจสุขภาพประจำปี

สำหรับสาเหตุของภาวะโลหิตจางนั้น แบ่งตามกลไกการเกิดได้เป็น 3 สาเหตุใหญ่

1.การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงที่สำคัญ, โรคไตวายเรื้อรัง ทำให้ขาดปัจจัยในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง,โรคของไขกระดูก รวมถึงเป็นโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

2.การทำลายเม็ดเลือดแดงมากขึ้นในร่างกาย ซึ่งโรคกลุ่มนี้จะเป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ ผู้ป่วยจึงมักมีอาการตัวและตาเหลือง(ดีซ่าน)ร่วมด้วย โดยสาเหตุที่พบบ่อยในประเทศไทย เช่น โรคธาลัสซีเมีย, โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากการขาดเอนไซม์ G-6PD ,โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากภูมิคุ้มกันของตนเองทำลายเม็ดเลือดแดง และการติดเชื้อบางชนิด เช่น มาลาเรีย, คลอสติเดียม, มัยโคพลาสมา เป็นต้น

3.การเสียเลือดซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น กรณีการเกิดอุบัติเหตุ การตกเลือด หรืออาจค่อยๆเสียเลือดเรื้อรัง เช่น เสียเลือดทางประจำเดือนในผู้หญิง เสียเลือดในทางเดินอาหารในผู้ชายและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยที่เสียเลือดเรื้อรังก็มักจะมีการขาดธาตุเหล็กตามมาด้วย

โดยทั่วไปการรักษาภาวะโลหิตจางจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็น หากอาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ให้นอนพัก ไม่ออกแรงใดๆ ให้ออกซิเจนและอาจต้องให้เลือดทดแทนไปด้วย สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงอาจให้การรักษาเป็นผู้ป่วยนอก 

ขณะที่ พญ.สุพิชชา องกิตติกุล แพทย์คลินิกอายุรกรรม โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพญาไท 3 อธิบายเกี่ยวกับโรคติดเชื้อในกระแสเลือดไว้ว่า การติดเชื้อในกระแสเลือด หมายถึง การที่ร่างกายเกิดการติดเชื้อขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ปอด ในช่องท้อง ผิวหนัง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หรือภูมิคุ้มกันไม่ดี เชื้อก็จะลุกลามเข้าสู่เส้นเลือด ไหลเวียนอยู่ในเลือดของเรา พบว่า 80% เป็นเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนั้นเป็นเชื้อไวรัสและเชื้อรา

และเนื่องจากเลือดของเราไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย ทำให้เชื้อสามารถเกิดการอักเสบติดเชื้อที่อวัยวะส่วนต่างๆได้ หากไม่ได้รับการรักษาและมีความรุนแรงมาก อาจส่งผลให้ช็อคและการทำงานของอวัยวะต่างๆล้มเหลว เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

คนที่เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด คือ คนที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ดีเท่าที่ควรทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย คือ ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ได้รับเคมีบำบัด ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี เป็นโรคตับแข็ง เด็กเล็กมากๆและผู้สูงวัย

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท