ต่างชาติแห่ลงทะเบียน รักษาพยาบาลในไทย

04 ก.ค. 2563 | 05:48 น.

โฆษก ศบค. เผยร่างข้อปฏิบัติ Medical and Wellness Program มี 3 ระยะ ล่าสุดมี 62 โรงพยาบาลเอกชน สมัครเป็นสถานกักกัน/โรงพยาบาลทางเลือก ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1,700 คน จาก 17 ประเทศ

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.63  นายแพทย์ทวีศิลป์  วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงตอนหนึ่งถึงร่างข้อปฏิบัติ  Medical and Wellness Program หรือการนำผู้ป่วยต่างประเทศ มาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของประเทศไทย ในระยะที่ 1 เริ่มเข้ามาได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม หากเป็นไปได้ด้วยดี ระยะที่ 2 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม และระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ส่วนการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้ (Travel Bubble)  ยังเป็นกรณีพิเศษเฉพาะในกลุ่มที่สามารถจัดการได้ หรือ Special Arrestment 
นายแพทย์ทวีศิลป์  วิษณุโยธิน
สำหรับผู้ที่เข้ามารักษา ในรูปแบบ Medical and Wellness Program นี้ ทั้งที่โรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญา  ต้องถูกกักตัวเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่นำเชื้อออกไปแพร่กระจายในประเทศ  ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนที่สมัครเป็นสถานกักกัน/โรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) แล้ว 57 แห่งที่เป็นทางการ ล่าสุดเพิ่มเป็น 62 แห่ง  ต้องเดินทางโดยเครื่องบินเท่านั้น และต้องมีใบอนุญาต Certificate of  Entry (COE) ที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูต ขณะนี้ผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1,700 คน จาก 17 ประเทศ 

 

ทั้งนี้ สาธารณสุขจะตรวจสอบทั้งจำนวนเตียง บุคลากร  เพื่อไม่เกิดการแย่งใช้ทรัพยากรซึ่งกันและกัน  โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการ Medical and Wellness Program ยังไม่อนุญาตชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทยในขณะนี้   

 โฆษก ศบค. กล่าวในตอนท้ายว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ต้องช่วยคิดช่วยมองกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงเวลา เหมาะกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำหรับคนไทยทุกคน ขอให้มั่นใจว่ามีการดูแลเรื่องปากท้องและสุขภาพไปด้วยกันได้

โฆษก ศบค. ชี้แจงเพิ่มเติม สำหรับกรณีชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยว่า ต้องลงทะเบียน มีใบนัดหมายจากแพทย์ที่อยู่ในประเทศไทย และใบอนุญาตเข้าประเทศ (Certificate of Entry) จำกัดจำนวนของผู้ติดตามได้ไม่เกิน 3 ราย และเมื่อเดินทางเข้ามาแล้วจำเป็นต้องอยู่ในประเทศไทยจนครบ 14 วัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่พบเชื้อโควิด-19

ที่มา : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก