ย้อนรอย "วันเข้าพรรษา" ที่มา "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ"

03 ก.ค. 2563 | 10:35 น.

ย้อนรอย ที่มาของการกำหนดให้ "วันเข้าพรรษา" เป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" ของทุกปี

"วันเข้าพรรษา" เริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา

 

และ วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือภาษาปากว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า พักอยู่)  การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง พระสงฆ์จะไม่จำพรรษาไม่ได้ เนื่องจากรูปใดไม่จำพรรษาถือว่าต้องอาบัติทุกกฏตามพระวินัย การเข้าพรรษาตามปกติ

 

แต่หนึ่งในกิจกรรมที่ประชาชนคนไทยปฏิบัติมาต่อเนื่องในช่วงเข้าพรรษาคือ "การงดเหล้า" ซึ่งฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบที่มาของ กิจกรรม "งดเหล้า เข้าพรรษา" มีที่มาดังนี้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่องกิจกรรมทำใจใสๆ ทั่วไทย อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษานี้ไปไหนดี

“อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา”กรมทางหลวงรับมือคนเดินทาง

“วันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา” คนไทยใช้เงินทำบุญเฉลี่ย 625 บาท/คน

“อัพเดท”อีกรอบ วันหยุดชดเชยเดือนกรกฎาคม2563 มีวันไหนบ้าง

ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีการพิจารณาวาระ "เพื่อพิจารณาจร" เรื่องที่ เครือข่ายภาคประชาชนเสนอรัฐบาลให้วันเข้าพรรษาเป็น วันงดดื่มสุราแห่งชาติ  ซึ่งก่อนหน้านั้นเครือข่ายภาคประชาชนได้ทำหนังสือลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 ถึง นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นให้พิจารณาเรื่องนี้ 

 

โดยเอกสารครม.ระบุว่า ด้วยเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 เวลา 10.00 น. เครือข่ายภาคประชาชน นําโดย นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อํานวยการสํานักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า  ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์เสนอครม. ให้พิจารณากําหนดให้ “วันเข้าพรรษา” เป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ด้วยเหตุผล ดังนี้

 

1. สังคมไทยมีวัฒนธรรมอันดีงามจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เมื่อถึงช่วงเวลา เข้าพรรษาตลอด 3เดือน จะตั้งสัจจะอธิษฐาน ลดละเลิกเหล้า เป็นการรักษาศีล 5 และ จากการที่สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และองค์ภาคีได้รณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ปี 2546 พบว่ามี ผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นถึงจากปกติที่เคยมีผู้งดเหล้าเข้าพรรษาร้อยละ 15 เพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 40-50  โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลําดับ ซึ่งหากรัฐบาลรับรองให้มี “วันงด ดื่มสุราแห่งชาติ” ยิ่งเป็นการสนับสนุนธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามนี้ให้ดียิ่งขึ้น

2. จากการสํารวจความคิดเห็นโดยสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ ปี 2549 พบว่า ประชาชนร้อยละ 88.6  เห็นด้วยกับการกําหนดให้มี “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” 1 วันต่อปี และเห็นว่า “วันเข้าพรรษา” ควรเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ร้อยละ 61.6

 

3. การประกาศเป็นนโยบาย (มติคณะรัฐมนตรี) จะทําให้ความร่วมมือ ในการรณรงค์ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงทางสังคม และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม และสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นต้น

 

และหลังจากคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในวันนั้น ก็ทำให้ วันเข้าพรรษา ของทุกปี เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

มติครม. กำหนดให้ วันเข้าพรรษา เป็น วันงดดื่มสุราแห่งชาติ