ทำความรู้จัก “ไอบูโพรเฟน” อุทาหรณ์ซื้อยามาทานจนแพ้หนัก

04 มิ.ย. 2563 | 09:41 น.

ทำความรู้จัก “ไอบูโพรเฟน” อุทาหรณ์หญิงสาวปวดฟันคุดซื้อยามาทานจนแพ้หนัก

โลกออนไลน์ได้แชร์ อุทาหรณ์กรณีของการซื้อยามารับประทานเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน ครั้งนี้เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ของสาวคนหนึ่งมีอาการปวดฟังคุด จึงซื้อยาแก้ปวด "ไอบูโพรเฟน" มารับประทานเอง สุดท้ายแพ้ยาอย่างรุนแรง จนมีอาการผิวหนังไหม้แทบทั้งตัว

มาทำความรู้จัก “ไอบูโพรเฟน” 

ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เป็นยาในกลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) นิยมใช้เพื่อรักษาอาการปวด ลดไข้ และแก้อักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ปวดหัว ปวดฟัน ปวดหลัง ข้อต่ออักเสบ ปวดประจำเดือน และอาการบาดเจ็บเล็กน้อย ทั้งนี้ปริมาณที่แนะนำคือ 400 มิลลิกรัมต่อครั้ง และไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน

 

 

 

เกี่ยวกับ ไอบูโพรเฟน

1. กลุ่มยา ยาต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs

2. ประเภทยา   ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง

3. สรรพคุณ    ลดอาการปวด ลดไข้ และแก้อักเสบ

4.กลุ่มผู้ป่วย  เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปและผู้ใหญ่

5. รูปแบบของยา ยาเม็ด ยาน้ำ ยาทา ยาพ่น

คำเตือนการใช้ยา ไอบูโพรเฟน

  • การใช้ยาไอบูโพรเฟนในปริมาณสูงติดต่อกันเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวายได้ ผู้ป่วยโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงยาประเภทนี้
  • อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในช่องท้องและลำไส้ได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ การใช้ยาดังกล่าวโดยไม่ระมัดระวังอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • อาจส่งผลเสียต่อลำไส้และกระเพาะอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาขณะท้องว่าง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไอบูโพรเฟนหากมีอาการแพ้ยา หรือเคยมีอาการหอบหืดเฉียบพลันหลังจากใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs และแอสไพริน
  • สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าวได้เป็นดีที่สุด โดยเฉพาะขณะมีอายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 (7-9 เดือน)
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคลิ่มเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง โรคตับ โรคไต หรือโรคหอบหืดควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ผู้ที่เคยมีประวัติเลือดออกในกระเพาะอาหารควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ห้ามใช้ยาไอบูโพรเฟนกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์

ปริมาณการใช้ยา ไอบูโพรเฟน

ยารับประทาน

รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

  • เด็ก 30-40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ 3-4 ครั้ง ไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม
  • ผู้ใหญ่ 400-800 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง ไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม

ลดไข้ ลดปวด

  • เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี ใช้ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ทุก ๆ 6-8 ชั่วโมง ไม่เกินครั้งละ 40 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุ 2 -11 ปี ใช้ 5-10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก ๆ 6-8 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 40  มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน หรือ 4 ครั้งต่อวัน
  • ผู้ใหญ่ 200-400 มิลลิกรัม ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 1,200 มิลลิกรัม

ยาทา

  • ผู้ใหญ่ ใช้ครีม/สเปรย์/โฟม ที่มีส่วนผสมของตัวยา 5% หรือ ชนิดเจลที่มีส่วนผสมของตัวยา 10% บริเวณที่มีอาการปวด

การใช้ยา ไอบูโพรเฟน

ยาไอบูโพรเฟนเป็นยาที่สามารถส่งผลเสียต่อกระเพาะและลำไส้ได้ ควรรับประทานยาหลังอาหาร และใช้ไม่เกินครั้งละ 400 มิลลิกรัม นอกจากนี้ไม่ควรใช้ยาไอบูโพรเฟนร่วมกับยาแอสไพรินโดยเด็ดขาด และควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะใช้ยา เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร หากไม่แน่ใจในเรื่องการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ให้แน่ชัด

ผลข้างเคียงของ ยาไอบูโพรเฟน

ยาไอบูโพรเฟน เป็นยาที่มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก จึงควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์หากพบอาการผิดปกติ โดยอาการข้างเคียงที่มักพบจากการใช้ยาดังกล่าวได้แก่

  • อาการปวดท้อง แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย
  • มีกรดในกระเพาะอาหาร
  • เรอ มีลมภายในท้องหรือลำไส้ ผายลมบ่อย
  • ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก
  • มีปัญหาเรื่องปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลง
  • แสบร้อนกลางอก
  • คันตามผิวหนัง
  • ปวดหรือรู้สึกไม่สบายบริเวณหน้าอก ท้องส่วนบน หรือลำคอ
  • ผิวซีดลง
  • คลื่นไส้
  • หายใจเร็ว หายใจเสียงดัง หายใจถี่ หายใจลำบาก
  • มีผื่นเป็นปื้น ๆ บริเวณผิวหนัง
  • มีอาการบวมบริเวณใบหน้า นิ้วมือ มือ เท้า เข่า และขาส่วนล่าง
  • เลือดออกผิดปกติ
  • เหนื่อยง่าย
  • อาเจียน
  • น้ำหนักขึ้นผิดปกติ

นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยาบางรายอาจมีอาการผลข้างเคียงที่ผิดปกติร่วมด้วย เช่น รู้สึกกระวนกระวาย มึนงง เลือดออกตามไรฟัน ผิวลอก สายตาผิดปกติ ท้องผูก ไอ เสียงแหบ หนาวสั่น กลืนลำบาก ปากแห้ง วิงเวียนศีรษะ หลอดเลือดที่คอโป่งพอง อ่อนเพลียอย่างรุนแรง การเต้นของหัวใจผิดปกติ เป็นไข้ ปัสสาวะถี่ ผมร่วง ลมพิษ ความดันโลหิตสูง ท้องไส้ปั่นป่วน อาเจียนเป็นเลือด หรือตาเหลือง ตัวเหลือง ซึ่งถ้าหากเกิดอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากทิ้งไว้อาจส่งผลร้ายให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะโคม่าได้

ขอบคุณที่มา:www.pobpad.com เว็บไซต์ข้อมูลสุขภาพ