สธ.เฝ้าระวังโรคโควิดกับภาวะอักเสบในเด็ก

03 มิ.ย. 2563 | 04:43 น.

สธ.เฝ้าระวัง โรคโควิด กับ ภาวะอักเสบในเด็กหลายระบบ ยืนยัน ยังไม่พบในไทย

กระทรวงสาธารณสุข ยังคงเกาะติดสถานการณ์โควิดอย่างใกล้ชิด รวมถึงกระแสข่าวต่างๆที่เกี่ยวข้อง จากรายงานจากทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือที่มีการระบุว่า พบผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่เจ็บป่วยรุนแรงรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติด้วยอาการที่คล้ายกับกลุ่มคาวาซากิ ซึ่งกลุ่มอาการนี้อาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อโควิด-19

นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธบิดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีรายงานจากทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือพบผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่เจ็บป่วยรุนแรงรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติด้วยลักษณะที่คล้ายกับกลุ่มอาการคาวาซากิร่วมกับมีภาวะช็อก คือมีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน ด้วยการอักเสบรุนแรงในหลายอวัยวะทั่วร่างกาย บางรายที่อาการรุนแรงทำให้เกิดการทำงานของร่างกายล้มเหลวหลายระบบ พร้อมกับมีภาวะช็อก สมมติฐานเบื้องต้นเชื่อว่ากลุ่มอาการนี้สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากพบหลักฐานของการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจพบเชื้อโดยตรง หรือการตรวจพบการตอบสนองของร่างกาย หรือแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด 19 ในผู้ป่วยหลายราย และเรียกภาวะนี้ว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Children and Adolescents (MIS-C)

อย่างไรก็ตาม การรายงานเคสผู้ป่วยในแต่ละภูมิภาคมีความหลากหลาย จึงยากที่จะนำมาวิเคราะห์หาข้อสรุปว่าสัมพันธ์กับการติดเชื้อโควิด-19 มากน้อยเพียงใด องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงพัฒนาฐานข้อมูลที่มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อช่วยให้สามารถบันทึกข้อมูลทางคลินิกและข้อมูลเชิงระบาดวิทยา สามารถนำมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและมีความน่าเชื่อถือสำหรับกรณีนี้โดยเฉพาะ โดยขอความร่วมมือแพทย์ทั่วโลก บันทึกข้อมูลในแพลตฟอร์ม ชื่อ WHO COVID-19 Clinical Data Platform เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบแนวโน้ม ความรุนแรง และภาระโรค

องค์การอนามัยโลก ออกเกณฑ์การเฝ้าระวังหากพบอาการอย่างน้อย 2 ใน 5 ข้อ ต่อไปนี้ 1.มีการอักเสบบริเวณผิวหนัง และเยื่อบุ 2.มีภาวะช็อกหรือความดันต่ำ 3.การทำงานของหัวใจผิดปกติ 4.มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ 5.มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ร่วมกับอีก 3 ข้อ คือ มีระดับของค่าการอักเสบในเลือดที่เพิ่มสูงกว่าปกติ ไม่พบหลักฐานว่าอาการที่เกิดขึ้นอธิบายได้จากสาเหตุอื่น และมีหลักหลักฐานของการติดเชื้อ หรือสัมผัสโควิด-19″ พญ.วารุณี กล่าว

ขณะที่ นพ.วรการ พรหมพันธุ์ กุมารเวชศาสตร์ – โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า สำหรับในประเทศไทย กรมการแพทย์ ได้มอบหมายให้สถานพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการเข้าได้กับ MIS-C บันทึกข้อมูลและส่งต่อข้อมูลในกรณีมีเคสที่สงสัย จนถึงปัจจุบัน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังไม่พบความผิดปกติดังกล่าว

นอกจากนั้นยังพบว่าอุบัติการณ์ในการเกิดโรคคาวาซากิที่มาเข้ารับการรักษาในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปรียบเทียบกับอัตราที่พบย้อนหลัง ในช่วง 5 เดือนแรกของปี ตั้งแต่ปี 60 จนถึงปี 63 พบว่าในช่วงปี 2563 จำนวนผู้ป่วยคาวาซากิลดลงประมาณกว่าครึ่งและไม่พบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของ MIS-C เหมือนในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองพบมีเด็กอาการน่าสงสัย คือ ไข้สูงเกิน 3 วัน มีอาการทางเดินอาหาร หรือมีผื่นผิวหนัง ตาแดง สามารถปรึกษากุมารแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อรับคำแนะนำในการตรวจรักษาที่ถูกต้องต่อไป