รอตรวจสอบความซ้ำซ้อน"เยียวยากลุ่มเปราะบาง"

01 มิ.ย. 2563 | 05:12 น.

"จุรินทร์" ลงพื้นที่คลองเตยกับ "จุติ " พร้อมเผยความคืบหน้าเงิน"เยียวยากลุ่มเปราะบาง"ว่าอยู่ ในขั้นตอนตรวจสอบความซ้ำซ้อน

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเงิน "เยียวยากลุ่มเปราะบาง" ที่ครม.อนุมัติให้ช่วย 3 กลุ่มได้แก่ เด็ก,ผู้สูงอายุ และคนพิการ จำนวน 13 ล้านคน จะได้รับ "เงินเยียวยา 3,000 บาท"ระยะเวลา 3 เดือน ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในระหว่างการลงพื้นที่ชุมชนย่านคลองเตยร่วมกับนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 


โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพม.กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ"กลุ่มเปราะบาง"จำนวน 13 ล้านคนเพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกันกับที่ได้รับเงินเยียวยาไปก่อนหน้านั้น พร้อมทั้งต้องพิจารณาศึกษารายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆอีกอย่างรอบคอบ 

 

ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา ได้มีมาตรการเยียวยาผู้พิการ โดยคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (กพช) ซึ่งตนเองในฐานะรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นรองประธานได้มีการเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้พิการที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19  โดยมีมาตรการออกมา  4 เรื่องเพื่อช่วยเหลือผู้พิการ ได้แก่ 


มาตรการที่1 ช่วยเงินเยียวยาเป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้พิการรายละ 1,000 บาท (จ่ายครั้งเดียวเมื่อวันที่ 29 พ.ค.) จำนวนกว่า 2 ล้านคน 

มาตรการที่2 เงินกู้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่มีดอกเบี้ยรายละ 10,000 บาทสามารถผ่อนชำระได้เป็นเวลา 5 ปี 

มาตรการที่ 3 เพิ่มเบี้ยยังชีพจากเดือนละ 800 บาทเป็นเดือนละ 1,000 บาทสำหรับผู้พิการที่มีทะเบียนจำนวนกว่า 1 ล้านคนและ ในส่วนผู้พิการที่อายุต่ำกว่า 18 ปี นั้นก็จะได้รับเบี้ยยังชีพจาก 800 เป็น 1,000 บาทประมาณกว่า 1.1 แสนคน โดยจะเริ่มในเดือนตุลาคม 2563 

มาตรการที่ 4 การพักหนี้ผู้ที่กู้เงินกองทุนผู้พิการ 1 ปีเริ่มตั้งแต่เมษายนปีนี้ (2563) ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ปีหน้า(2564)
 

 

รอตรวจสอบความซ้ำซ้อน"เยียวยากลุ่มเปราะบาง"
ด้านนายจุติ กล่าวว่า พม.ติดตามให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มเปราะบางมาโดยตลอด ล่าสุดในวันนี้ได้ลงพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ เขตคลองเตย กทม. ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยและการท่าเรือแห่งประเทศไทยบางส่วน มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นรวม 518 ครอบครัว มีกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก ทั้งเด็กเล็ก ,คนพิการ และ ผู้สูงอายุ 93 คน มีจิตอาสา วินมอเตอร์ไซค์ 


"จากการพูดคุยสอบถามก็พบว่าประชาชนในชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากโรคโควิด-19 ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ต้องประสบปัญหาว่างงานและตกงาน ทำให้รายได้ลดลงไม่มีเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั้งตนเองและครอบครัว"
 

ขณะที่นายจุรินทร์ ที่ได้ลงพื้นที่ร่วมกันในวันนี้ ก็ได้รับฟังปัญหาพร้อมทั้งหารือแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนต่อไป อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือได้ร่วมกับเครือข่าย 43 ชุมชนในเขตคลองเตยและสภาองค์กรชุมชนคลองเตย วางแผนและแนวทางในการรับมือต่อสถานการณ์โรคโควิด-19


โดยแบ่งออกเป็น 1.แผนระยะสั้น ออกสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนและผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งจัดทำครัวกลางชุมชน เป็นต้น  2.แผนระยะกลาง จัดทำระบบคูปองอาหาร และคัดกรองกลุ่มเปราะบางในชุมชนเพื่อเร่งช่วยเหลือต่างๆ และจัดทำเป็นต้นแบบ  และ 3. ระยะยาว โดยติดตั้งระบบกองทุนข้าวสารอาหารแห้ง
 

ในการนี้นายจุรินทร์ และ นายจุติ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆยังได้ช่วยเหลือชุมชนด้วยการแจกข้าวกล่อง มอบรถเข็นสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ มอบแว่นสายตาและเสื้อ มอบถุงยังชีพ และยังมีเจ้าหน้าที่จาก กระทรวง พม. มาให้แนะนำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสังคมและสวัสดิการสังคมจากรัฐ  ,กระทรวงพาณิชย์นำสินค้าธงฟ้าราคาประหยัดมาจำหน่าย กระทรวงแรงงาน  กรมจัดหางาน มาให้บริการเคลื่อนที่ และกระทรวงสาธารณสุข มาให้ความรู้ในการดูแลและป้องกันจากโรคโควิด-19  นอกจากนั้นแล้วยังมีภาคเอกชน บริษัท โปรเฟสชั่นเนล ลาโบราทอรี่ แมนเนจเม้นท์คอร์ป จำกัด และนักศึกษา วปอ. 62 ได้สนับสนุนรถบริการตรวจสุขภาพและเอ็กซ์เรย์ปอดเคลื่อนที่ 2 คัน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เกาะติด "เยียวยากลุ่มเปราะบาง" เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รับเงิน 3,000บาท

เช็กสิทธิ์ "เงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง"

พรุ่งนี้ "เยียวยากลุ่มเปราะบาง" คืบหน้า "จุติ" ควง "จุรินทร์" ลงพื้นที่