อากาศถ่ายเทไม่ดี ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ การแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

24 เม.ย. 2563 | 04:35 น.

"หมอมนูญ"ยกผลวิจัยจีน อากาศถ่ายเทไม่ดี เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19

นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์  แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ข้อความว่า

อากาศถ่ายเทไม่ดี ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ การแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

อากาศถ่ายเทไม่ดี เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะเวลาที่อยู่ร่วมกัน พูดคุยกัน และต้องถอดหน้ากากอนามัยเพื่อรับประทานอาหาร ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่ม เช่นในภัตตาคาร ผับ บาร์

 

รายงานจากการวิจัยโดย Jianyun Lu และคณะจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคกวางโจว พบการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายหนึ่งที่ยังไม่มีอาการ กลับมาจากเมืองอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 23 มกราคม ไปรับประทานอาหารกลางวันกับคนในครอบครัวของเขาที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งในเมืองกวางโจว ประเทศจีน สามารถแพร่เชื้อให้กับคนในครอบครัว และคนที่นั่งโต๊ะข้างๆได้

 

ห้องอาหารนี้ยาว 6 เมตร กว้าง 5 เมตร ติดตั้งระบบแอร์แบบหมุนวน ไม่มีหน้าต่าง มีโต๊ะตั้งอยู่ 3 ตัว ห่างกันราว 1 เมตร

 

อากาศเย็นออกจากแอร์ที่ติดตั้งเหนือโต๊ะแรก C มีคนนั่ง 7 คน ผ่านมาโต๊ะ A ของคนที่แพร่เชื้อ มีคนนั่ง 10 คน ผ่านไปโต๊ะหลังสุด B มีคนนั่ง 4 คน ก่อนจะวนกลับมาผ่านโต๊ะของคนแพร่เชื้อ A แล้วกลับมาถึงโต๊ะแรก C (ดูรูป) คนนั่งรับประทานอาหารกันนานประมาณ 1 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหาร ผู้ป่วย A1 เริ่มมีอาการไข้ ไอ ไปโรงพยาบาลวันนั้น ตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 หลังจากนั้น 2 สัปดาห์มีคนป่วยเพิ่มขึ้น 9 คน โดย 4 คนนั่งโต๊ะเดียวกับผู้ป่วย 3 คนนั่งโต๊ะ B ใต้ทิศทางลมของโต๊ะผู้ป่วย อีก 2 คนนั่งโต๊ะ C เหนือทิศทางลมของโต๊ะผู้ป่วย

อากาศถ่ายเทไม่ดี ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ การแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

ผู้ป่วยรายนี้ถึงจะไม่มีอาการอยู่ในระยะฟักตัวก็สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ คนที่มารับประทานอาหารไม่มีใครใส่หน้ากากอนามัยอยู่แล้ว ละอองทั้งใหญ่และเล็กลอยออกมาจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยเวลาหายใจออก พูดคุยกับคนในครอบครัว เครื่องปรับอากาศระบบหมุนวนช่วยกระจายทั้งละอองใหญ่และละอองฝอย ให้ไปมาได้ไกลถึง 3 ช่วงโต๊ะ ทำให้มีผู้ติดเชื้อหลายคนในเวลาเดียวกัน

 

ทีมวิจัยสรุปว่าการติดเชื้อน่าจะเกิดจากละอองใหญ่ (droplet) ที่ออกจากผู้ป่วยลอยไปให้คนนั่งโต๊ะใกล้ๆ (ถึงแมัจะนั่งห่างกัน 1 เมตร) ตามความเร็วและทิศทางของลมจากเครื่องปรับอากาศแบบหมุนวน ยังแยกไม่ได้ว่าติดกันทางละอองฝอยขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน (aerosol) หรือไม่

 

ดังนั้นร้านอาหารควรเพิ่มระยะห่างระหว่างโต๊ะให้เป็น 2 เมตร และปรับปรุงการระบายอากาศ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ถ้าจะให้ดี ไม่ควรติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเททางธรรมชาติ เปิดพัดลม โอกาสติดเชื้อจะลดลงมาก

 

ถ้าเราต้องไปในทุกสถานที่มีเครื่องปรับอากาศ เช่นสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงแรมโรงพยาบาล นั่งในรถแท็กซี่ รถตู้ รถประจำทาง รถไฟฟ้า จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา อย่าถอดออก

 

ถ้าไปร้านอาหาร ภัตตาคาร ผับ บาร์ สถานที่ที่เราจำเป็นต้องถอดหน้ากาก เราต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลให้มากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกร้านอาหารที่เปิดโล่ง เปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทตามธรรมชาติ ไม่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ