กรมอนามัยแนะ 9 ข้อ ร้านสะดวกซื้อหนีห่างโควิด

10 เม.ย. 2563 | 08:35 น.

กรมอนามัย เผย 9 ข้อแก่ร้านสะดวกซื้อ หวังช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด -19 พร้อมเปิดแอปพลิเคชัน  Stopcovid-19  เพื่อปักหมุดร้าน -ประเมินมาตรฐานตนเอง และลูกค้ายังตรวจสอบ-ร้องเรียนการใช้บริการได้

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ร้านสะดวกซื้อ ประเภทซุปเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท และร้านขายของชำ นับเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ดังนั้นกรมอนามัยจึงได้จัดทำแนวทางการปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับร้านสะดวกซื้อ

 

ตั้งแต่สถานที่จำหน่ายสินค้า ต้องทำความสะอาดบริเวณพื้น เคาน์เตอร์ชำระเงิน เป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง และอาจฆ่าเชื้อโรค ด้วยแอลกอฮอล์ 70 % จัดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือสำหรับผู้บริโภคบริเวณทางเข้า–ออก และมีการกำหนดจุดระหว่างพนักงาน และผู้บริโภคที่ใช้บริการ ต้องจัดให้มีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร  สำหรับตระกร้าหรือรถเข็นใส่สินค้าให้ทำความสะอาดทุกวันโดยเฉพาะบริเวณที่จับ


ในกรณีที่มีการปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อจำหน่าย บริเวณที่ปรุงประกอบอาหาร  ต้องสะอาดปลอดภัย มีการปกปิดอาหาร และอุ่นอาหารทุก ๆ 2 ชั่วโมง  โดยอุปกรณ์สำหรับหยิบ จับ หรือตักอาหารแบบบริการตนเอง ควรเลือกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือใช้แบบที่ผู้บริโภคสามารถนำกลับไปด้วยเมื่อเลือกอาหารเสร็จ

กรมอนามัยแนะ 9 ข้อ ร้านสะดวกซื้อหนีห่างโควิด

นอกจากนี้พนักงานต้องดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง และลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อโรคระหว่างปฏิบัติงานโดยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานหลังเข้าส้วม หลังจับสิ่งสกปรก หลังจับเงิน และหากมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบให้หยุดงานและไปพบแพทย์ทันที

กรมอนามัยแนะ 9 ข้อ ร้านสะดวกซื้อหนีห่างโควิด

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า การจัดวางสินค้าที่จำหน่าย ให้จัดแยกเป็นหมวดหมู่ตามประเภท   ของสินค้า โดยการเก็บอาหารที่ต้องแช่เย็นหรือแช่แข็ง ควรจัดเป็นสัดส่วนตามประเภทของอาหารสด มีการปกปิดอาหารเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม อาหารปรุงสำเร็จพร้อมบริโภค ต้องบรรจุในภาชนะ  ที่เหมาะสมกับอาหาร และติดฉลากข้อมูล เช่น สถานที่ผลิต วัน/เดือน/ปี เวลาที่ผลิต ส่วนอาหารแห้งต้องแยกเก็บตามประเภทโดยไม่ปะปนกัน

ทั้งนี้ กรมอนามัยได้จัดทำ Application Stopcovid-19 ให้ร้านสะดวกซื้อที่ปฏิบัติตามมาตรฐานประเมินตนเองและปักหมุดร้าน ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบ เลือกการใช้บริการ และร้องเรียนเสนอแนะผ่านช่องทางเดียวกัน 

“สำหรับการปฏิบัติตนของผู้บริโภคเพื่อลดระยะเวลาที่อยู่ภายในร้านสะดวกซื้อนั้น ควรมีการวางแผนล่วงหน้าในการเลือกซื้อสินค้า โดยขณะใช้บริการให้สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และควรรักษาระยะห่างกับผู้อื่นในระยะ 1-2 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อโรค และที่สำคัญต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้   เจลแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและหลังการเลือกซื้อสิ้นค้าเพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับตนเอง”