สธ.เดินหน้ามาตรการเว้นระยะห่าง​ลดแออัดในร.พ.

09 เม.ย. 2563 | 09:20 น.

กระทรวงสาธารณสุข กำหนดแนวทางหนีโควิด -19 ในโรงพยาบาล แนะให้เว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดความแออัด- ลดการแพร่กระจายเชื้อในแผนกผู้ป่วยนอก  พร้อมขอความร่วมมือประชาชนให้ข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อให้ได้รับการรักษาเร็ว ลดความเสี่ยงเกิดปอดอักเสบรุนแรง

วันนี้ (9 เมษายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การให้บริการในแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ มีความแออัดของผู้มารับบริการ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังหรือผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยง หากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า

ดังนั้นการเว้นระยะห่างทางสังคมซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่จะลดการแพร่กระจายเชื้อทำได้ค่อนข้างยาก กระทรวงสาธารณสุขจึงออกแนวทางลดความแออัดในแผนกผู้ป่วยนอก เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 เป็นการสำรองกำลังคนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้รองรับหากเกิดการระบาดรุนแรง

สธ.เดินหน้ามาตรการเว้นระยะห่าง​ลดแออัดในร.พ.

โดยผู้ป่วยที่มีอาการทั่วไปดี และผลการตรวจล่าสุดคงที่ไม่มีปัญหา มีแนวทางประกอบไปด้วย  การรับยาร้านยาใกล้บ้าน ส่งยาถึงบ้านทางไปรษณีย์ เลื่อนนัดตรวจให้นานขึ้น หรือให้คำปรึกษาทางไกล (Tele-consult)

สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นหรือผลการตรวจล่าสุดมีปัญหา ควรมาตรวจตามนัดเดิม โดยอาจสอบถามรายละเอียดและช่องทางอำนวยความสะดวกจาก รพ. ก่อนไปรับบริการ ส่วนผู้ป่วยที่เจ็บป่วยรุนแรงฉุกเฉินสามารถไปรับบริการห้องฉุกเฉินได้ตามปกติ

 

นอกจากนี้ ได้ปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ล่าสุด ณ วันที่ 8 เมษายน 2563 ให้ผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบจะได้รับยา Favipiravir เร็วขึ้นกว่าแนวทางการรักษาเดิม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ปรับปรุงแนวทางเป็นระยะตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากความรู้ที่เข้ามาใหม่ สถานการณ์จำนวนผู้ป่วย และทรัพยากรที่มี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยในภาพรวมของประเทศ

สธ.เดินหน้ามาตรการเว้นระยะห่าง​ลดแออัดในร.พ.
"ขอย้ำว่า แม้จะติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายไข้หวัด ต้องเข้ารับการดูแลในโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่โรงพยาบาลจัดไว้ให้ เช่น hospitel จนครบอย่างน้อย 14 วัน เพื่อความปลอดภัยของท่านและลดโอกาสแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นในสังคม จากนั้นเมื่อแพทย์ประเมินว่าหายจากโรค และปลอดภัยแล้วควรพักฟื้นต่อที่บ้านหรือหากจำเป็นต้องไปทำงานให้พยายามแยกตัวห่างจากผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัยไว้ตลอด จนครบ 1 เดือนนับจากตรวจพบเชื้อหรือเริ่มมีอาการ"


นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญคือ ความร่วมมือจากประชาชนให้ข้อมูลที่เป็นจริงและครบถ้วน เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องรวดเร็ว ลดความเสี่ยงของตัวเองต่อการเกิดปอดอักเสบรุนแรง ลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนในครอบครัว และยังช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องไปให้การดูแลรักษาผู้อื่นต่ออีกด้วย