“พิพัฒน์”ยันครม.อนุมัติโรงแรมปิดเอง  ลูกจ้างได้เงินประกันสังคม

08 เม.ย. 2563 | 14:33 น.

“พิพัฒน์”ยันครม.เห็นชอบในหลักการ ลูกจ้างในระบบประกันสังคมทั้งโรงแรมที่ปิดเองและรัฐสั่งปิด เข้าข่ายเหตุสุดวิสัย ได้สิทธิรับเงินชดเชยประกันสังคม เตรียมลุ้นบริษัททัวร์ต่อ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 7 เมษายนว่า ได้เห็นชอบในหลักการให้ลูกจ้างในสถานประกอบการโรงแรม ที่พัก ซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับการเยียวยาชดเชยจากกองทุนประกันสังคมตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดทุกกรณี

 

ทั้งกรณีการถูกสั่งปิดโดยรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจปิดกิจการชั่วคราวด้วยตัวเองจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยที่ประชุมครม.มีความเห็นตรงกันว่าเป็นเหตุอันสุดวิสัย สามารถเข้าเกณฑ์การได้รับการชดเชยได้ จากนี้ทางกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จะรับไปดำเนินการในขั้นตอนของกฎหมายต่อ ซึ่งลูกจ้างจะได้รับการชดเชยจากรัฐแน่ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงแรงงานฯ ม.ร.ว. จตุมงคล โสณกุล ก็ไม่ขัดข้อง  ส่วนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกาที่ร่วมประชุมครม.อยู่ด้วยก็ยืนยันว่าโรคระบาดเป็นเหตุสุดวิสัย

 

 “พิพัฒน์”ยันครม.อนุมัติโรงแรมปิดเอง  ลูกจ้างได้เงินประกันสังคม

 

นอกจากนี้สัปดาห์หน้ากระทรวงท่องเที่ยวฯ จะนำเสนอที่ประชุมครม.เพื่อขอให้ลูกจ้างในธุรกิจนำเที่ยว ที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ให้ได้รับสิทธิ์ชดเชยจากกองทุนประกันสังคมด้วย  นายพิพัฒน์กล่าว
 

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านั้น ภาคเอกชนได้เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการแต่จังหวัดออกคำสั่งประกาศปิดโรงแรมเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิชดเชยประกันสังคม ซึ่งล่าสุดมีการประกาศปิดโรงแรมไปแล้วราว 12 จังหวัดแต่ยังเหลือจังหวัดใหญ่ ๆ ทั่วประเทศอีกเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะกทม.ที่ได้รับความเดือนร้อนในเรื่องนี้

 

 “พิพัฒน์”ยันครม.อนุมัติโรงแรมปิดเอง  ลูกจ้างได้เงินประกันสังคม

 

สำหรับแนวทางการชดเชยที่ผ่านมาครม.ได้เห็นชอบแนวทางการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย แยกเป็น 2 กรณี คือตามข้อ 3 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน

โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน

 

อีกกรณีคือตามข้อ 3 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งแต่ ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน