“ณัฏฐพล”สั่งปรับแผนใช้งบช่วยคนตกงาน-อาชีวะจบใหม่

29 มี.ค. 2563 | 10:43 น.

“ณัฏฐพล”สั่งทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ. ปรับแผนใช้จ่ายงบปี 63 จัดสรรช่วยเหลือประชาชนตกงาน-แรงงานอิสระ-แรงงานที่กำลังเข้าสู่ระบบ-อาชีวะจบใหม่ พร้อมกำชับให้ดูแลพระภิกษุสามเณร เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เพื่อร่วมแรงใจสู้ภัย COVID-19

29 มีนาคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่แพร่หลายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ล่าสุดได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงาน กศน.  หน่วยงานส่วนกลางในภูมิภาค ให้ร่วมกันช่วยเหลือประชาชน 

“ขณะนี้ผมมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนทั่วไปที่ตกงาน ผู้ที่เป็นแรงงานอิสระ หรือแรงงานที่กำลังเข้าสู่ระบบ หรือเด็กอาชีวะจบใหม่ และกำชับให้ดูแลพระภิกษุสามเณร เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และประชาชน เพื่อร่วมแรงใจสู้ภัย COVID-19” นายณัฏฐพล กล่าว

นอกจากนี้ ยังให้เร่งการผลิตหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อนำไปแจกจ่ายประชาชนกว่า 5 ล้านชิ้น รวมถึงให้จัดหาครูสอนเสริมความรู้ ฝึกอาชีพ เรียนออนไลน์ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ โดยเน้นการเสริมทักษะทางด้านดิจิทัล (Digital Skill) และทักษะภาษาอังกฤษ ให้แก่ผู้เรียน พร้อมด้วยการบริหารจัดการการเรียนการสอนออนไลน์อย่างเข้มข้น โดยใช้ดิจิทัล หรือเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมใช้แพลตฟอร์ม “OBEC Content Center” ในการเรียนออนไลน์ ซึ่งขณะนี้มีครบทุกชั้น ทุกรายวิชา ทุกหลักสูตร และใช้เพื่อการสอบด้วย

 
“กรณียังเปิดภาคเรียนไม่ได้ นักเรียนยังเรียนอยู่ที่บ้าน สพฐ.จะใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวและอื่นๆ เช่น การจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) เพื่อให้เรียนเพิ่มเติม โดยผู้ปกครองสามารถนำไปจัดการเรียนการสอนได้เช่นกัน”

ขณะเดียวกัน ข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพการศึกษา หากผู้บริหารสถานศึกษามองเห็นปัญหาข้อจำกัดต่าง ๆ ก็สามารถออกแบบการจัดห้องเรียน การใช้เทคโนโลยี การบริหารทรัพยากร เพื่อให้นักเรียนได้ความรู้เท่าเดิม หรือใกล้เคียงกับแบบเดิมมากที่สุด

ส่วนการรับสมัครนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 สพฐ. อาจจะขยับห้วงเวลาการรับสมัครเป็นระยะ โดยยึดตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยต้องทำให้เป็นกลุ่มที่เล็กลง ทยอยมาสมัครทีละกลุ่ม หามาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการดูแลความเรียบร้อย สร้างความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ นักเรียน และผู้ปกครองให้มากที่สุด โดยใช้วิธีการคัดเลือกที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายให้เหมาะสมตามสถานการณ์

ส่วนโรงเรียนเอกชน ที่มีการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษเช่นกันนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่มีนักเรียนนักศึกษาได้รับผลกระทบ ก็ใช้รูปแบบการเรียนออนไลน์เช่นกัน โดยเป็นการศึกษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ด้วยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อให้โรงเรียนอื่นร่วมใช้ และยังมีการรวบรวมสื่อการสอนเสริมหรือกวดวิชา และการสอนภาษาและอาชีพมาเผยเเพร่ด้วย

 

สำหรับแนวทางการเรียนออนไลน์ที่บ้าน นายณัฏฐพล บอกว่า นอกจากเป็นไปตามความจำเป็นในแต่ละสถานการณ์แล้ว ยังช่วยสนับสนุนให้เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง และปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในช่วงที่เผชิญกับวิกฤตโรค COVID-19 ที่อาจต้องหยุดการเรียนการสอนในสถานศึกษาระยะยาว โดยเปลี่ยนบ้านและสถาบันครอบครัวเป็นสถานศึกษา 

รวมทั้งแนวทางการออกเเบบโปรเเกรม เกมส์เสริม เพิ่มทักษะ Coding ให้เป็นระดับขั้นตอนการเรียนรู้ (Level) แก่เด็กทุกระดับช่วงวัย ได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน เพราะ Covid can’t stop Coding

ส่วนการเรียนออนไลน์นั้น จะเป็นการสร้างความรู้แก่เด็กและเยาวชนได้อย่างเหมาะสม สามารถเรียนที่บ้านได้อย่างปลอดภัย ให้ความรู้ ยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างทั่วถึง และสามารถสร้างโอกาสให้ทุกคนเรียนฟรี เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ง่ายกว่าที่คิด พิชิตโลกยุคดิจิทัล

นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ยังกล่าวย้ำว่า ก่อนหน้านี้ ศธ.ได้ดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลอย่างเข้มงวด และเพิ่มความเข้มข้นมาโดยตลอด นับตั้งแต่การประกาศ 13 มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา โดยการประกาศปิดสถานศึกษาทุกระดับทุกประเภท ทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563

หลังจากนั้น ก็ได้เพิ่ม 7 มาตรการเข้มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ได้แก่ การให้บุคลากรไปปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) โดยสามารถส่งงานทางออนไลน์ได้  ซึ่งสถานศึกษา หรือหน่วยงานต่าง ๆ สามารถบริหารจัดการตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานตนเองได้

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้ใช้อินเทอร์เน็ตภายในองค์กร เช่น การประชุมทางไกล รวมถึงการให้ทุกหน่วยงานจัดตั้งจุดคัดกรองอย่างเข้ม พร้อม Big Cleaning ด้วยการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีคุณภาพ เพื่อทำความสะอาดพื้นที่ทั้งในและนอกอาคารทุก 30 วัน รวมถึงการจัดประชุม อบรมสัมมนาให้ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด