เช็กด่วน เปิดขั้นตอน "ด่านตรวจ" ภาวะฉุกเฉิน

26 มี.ค. 2563 | 11:27 น.

โฆษกสตช. ตอบปมคาใจ พร้อมแจงแผนขั้นตอนการตรวจ หากประชาชนจะต้องผ่านด่านในภาวะฉุกเฉิน ที่มีกว่า 357 ด่านทั่วประเทศ

 

จากกรณีที่เมื่อเวลา 0.01 น. ของวันที่ 26 มีนาคม ซึ่งเป็นวันแรกของประกาศภาวะฉุกเฉิน ตามพรก.ฉุกเฉิน  ทำให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เริ่มปฏิบัติการตั้งด่านตรวจ จุดสกัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา(โควิด-19) ไม่ใช่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง จนมีหลายคนสงสัยว่า “ด่านตรวจ” จะสามารถสกัดเชื้อโรคได้อย่างไร 

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19. ) หรือ ศบค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงข้อข้องใจในการตั้งด่านตรวจพร้อมกับแสดงให้เห็นแผนปฏิบัติการบนจอประกอบการแถลง  โดยระบุว่า ทั่วประเทศจะมีด่านทั้งหมด 357 ด่าน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และบังคับใช้มาตรการป้องกันภารระบาดของโรค 

เช็กด่วน เปิดขั้นตอน "ด่านตรวจ" ภาวะฉุกเฉิน

โดยมี “ข้อแนะนําการปฏิบัติตัวของประชาชน” ระบุว่า 1. ประชาชนที่ไม่มีความจําเป็นเดินทาง “ให้อยู่บ้าน”  โดยเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 70 ปี เด็กอายุไม่เกิน 5 ปี และผู้มีโรคประจําตัว  2. งดเว้นการเดินทางข้ามเขตจังหวัด หากจําเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรอง ให้พกพาบัตรประจําตัวประชาชน สวมหน้ากากอนามัย ติดตั้ง Application ติดตามตัว บันทึกภาพ ตรวจวัดอุณหภูมิ หากเป็นไข้ หรือบุคคลกลุ่มเสี่ยง ต้องถูกกักตัว การเดินทางให้เว้นระยะห่างระหว่างการนั่งหรือยืน

พล.ต.ท.ปิยะ บอกด้วยว่า การตั้งด่านมีทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสมัคร และประชาชนจิตอาสาร่วมกันทำงาน ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ขณะนี้มีด่านตรวจทั่วประเทศ 357 โดยเป็นเส้นทางเข้าออกในกรุงเทพฯ 7 จุด แต่จะมีการเพิ่มเส้นทางเข้า-ออกในกรุงเทพฯอีก 5 จุด ในวันพรุ่งนี้(26มี.ค.63) ประกอบด้วย จุดที่ 1 ถนนเพชรเกษม รอยต่อจังหวัดนครปฐม จุดที่ 2 ถนนบางนา-ตราด รอยต่อจังหวัดสมุทรปราการ  จุดที่ 3  ทางยกระดับบูรพาวิถี จุดที่ 4 ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณอนุสรณ์สถาน และจุดที่ 5 ทางยกระดับดอนเมือง-โทลล์เวย์  

“และคาดว่าอาจจะมีทางเข้า-ออกของจังหวัดอีกหลายแห่งภายหลังการปฏิบัติครบ 24 ชั่วโมงแล้ว จะต้องปรับจุดบ้างหรือไม่ 

เช็กด่วน เปิดขั้นตอน "ด่านตรวจ" ภาวะฉุกเฉิน

สำหรับขั้นตอนการทำงานเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงาน โดยตำรวจจะบริหารจัดการจราจร ดูรถที่เข้ามาให้เข้าจุด มีการตรวจประสานงานกับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์กับกระทรวงสาธารณสุขว่าบุคคลที่ผ่านจุด อยู่ระหว่างการ “กักตัวเอง” หรือไม่ โดยตำรวจจะมีแอพพลิเคชั่นบันทึกข้อมูลผู้เดินทาง โดยจะถามว่าท่านจะไปไหน มีความจำเป็นอย่างไรหรือเปล่า 

ส่วนฝ่ายปกครองของกทม.และอำเภอ จะร่วมกับอบจ. อบต. ในการสนับสนุนอุปกรณ์ประจำจุดตรวจ แต่คนที่ดูแลวัดไข้ ประเมินสถานการณ์ถ้าจะต้องตรวจหรือจัดการกักตัวจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมจุดตรวจด้วย โดยมีประชาชนจิตอาสาร่วมทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์

ขั้นตอนตรวจ เมื่อท่านเจอตรวจ ณ ด่านตรวจ กรุณาจอดรถ หมุนกระจกรถลง เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบ 1.ท่านได้ทำตามที่มีการแนะนำหรือไม่ ใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ 2.ผู้โดยสารในรถเบียดกันแน่นหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ จากนั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะตรวจไข้ หากเป็นกลุ่มเสี่ยงเจ้าหน้าที่จะเชิญท่านออกมาที่จุดพักคอย เพื่อตรวจสอบให้เข้มข้น 

“ถ้าเป็นคนในพื้นที่จะเข้าจังหวัดเชียงใหม่ แล้วมีภูมิลำเนาอยู่ในเชียงใหม่ แต่อุณหภูมิเกิน 37.5 เจ้าหน้าที่จะดำเนินการนำตัวท่านเข้าสู่กระบวนการของการคัดกรองต่อ แต่ถ้าเป็นคนนอกพื้นที่ ไม่อยู่ในพื้นที่ก็นำตัวไปจุดอื่นๆ โดยสรุปในทุกจังหวัดในทุกเส้นทาง ก็จะดำเนินการในการเป็นเครือข่ายใยแมงมุมในการปฏิบัติงานโดยการทำงานจะเน้นการทำงานของทุกส่วน ทั้งส่วนของเจ้าหน้าที่และส่วนของประชาชนทุกท่าน โดยจะเลี่ยงให้เกิดปัญหาการจราจรน้อยที่สุด”

โฆษกสตช. กล่าวว่า เป้าหมายของการคัดกรองจุดตรวจต่างๆเพื่อความปลอดภัยของประชาชนทุกคน ขอให้ประชาชนร่วมมือ แต่ขอให้งดเว้นการเดินทางจะดีที่สุด เพราะถ้าผ่านด่านตรวจเหล่านี้จะต้องผ่านจุดคัดกรอง โดยขอให้พกบัตรประชาชนในการคัดกรองเพื่อการตรวจสอบต่างๆ 

จากนั้นมีการเปิดให้สื่อมวลชนถามข้อสงสัย โดยคำถามแรกถามว่า 


“ถ้าไม่ใช่คนในพื้นที่กทม. ปริมณฑล แต่ต้องเข้ามาทำงาน แต่มีทะเบียนบ้านพื้นที่อื่นยังสามารถเข้ามาทำงานได้หรือไม่ ?
โฆษกสตช. ตอบว่า เราไม่ถึงขั้นว่าห้ามเดินทาง 100% ขอให้ท่านพกบัตรประชาชนและบอกเหตุผลพอสมควร สมมติท่านเป็นคนงานจังหวัดเพชรบุรี วันนี้มีความจำเป็นจะต้องกลับไปเอาเอกสาร กลับไปเอาข้าวของที่กรุงเทพ เจ้าหน้าที่ก็จะถามว่าจะไปไหนอย่างไร ก็จะบันทึกไว้ แล้วก็จะตรวจสอบ โดยโหลดแอพพลิเคชั่นไว้ ถ้ามีความจำเป็นไม่มีปัญหา รวมทั้งการขนส่ง ท่านต้องขับรถขนส่งเครื่องอุปโภคบริโภค เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจดบัตรประชาชนไว้ 

“แต่ถ้าท่านบอกว่าท่านกำลังจะเดินทางไปเที่ยวชายทะเล ก็จะบอกแนะนำว่าขอให้ท่านกลับบ้านดีกว่าครับ” 

ข้อปฏิบัติงานของสื่อวลชในภาวะนี้ มีข้อห้ามข้อปฏิบัติอย่างไรหรือไม่
พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวว่า คิดว่าสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็ได้วางข้อกำหนดไว้แล้ว บรรยากาศในการได้ซักถามและ จัดที่นั่งได้ห่างพอสมควร  แล้วส่วนราชการก็ใช้วิธีการสื่อสารได้ข้อมูลข่าวสารทางโซเชียลมีเดีย และการแถลงข่าวจะมาใช้ที่นี่เป็นที่หลัก ส่วนรายละเอียดของแต่ละแห่งก็มีแนวปฏิบัติเช่นกัน 

เช็กด่วน เปิดขั้นตอน "ด่านตรวจ" ภาวะฉุกเฉิน

แสดงว่าผู้สื่อข่าวยังสามารถเดินทางไปทำข่าวเพื่อถ่ายทอดข้อมูลให้ประชาชนได้หรือไม่
โฆษกสตช. กล่าวว่า ไม่มีครับ ขอให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ประจำด่าน ว่าไปทำอะไรต่างๆ แต่เชื่อว่าส่วนราชการก็พร้อมให้ข้อมูลกับท่านโดยที่ไม่ต้องไปถึงที่ก็ได้ ขอให้ส่วนราชการส่งข้อมูล ภาพ คลิป ให้ก็จะเป็นประโยชน์

ส่วนกรณีรถส่งหนังสือพิมพ์ สายส่งที่ต้องวิ่งข้ามจังหวัดจะยังทำได้หรือไม่
พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ข้อห้ามอะไรพิเศษ ย้ำว่าในกรณีเดินทางที่จำเป็นในชีวิตประจำวันหรือว่าการเดินทางที่ตอบเหตุผลได้ ขนส่ง เครื่องมือการแพทย์ เข้าเวร เข้ายามผลัดดึก ขนส่งสินค้า แจ้งเลยครับ ณ จุดตรวจ แต่ไม่ใช่กรณีไปสังสรรค์สันทนาการอะไรต่างๆ

“และถ้าท่านยังพบคนที่ฝ่าฝืน มีการปาร์ตี้สังสรรค์ หมายเลขโทรศัพท์ 1111 หรือ 191 เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะเข้าไปดูแลให้ ผมว่าเราช่วยแจ้งข่าวสารคนละไม้ละมือครับ”

แล้วกรณีของรถโดยสารที่ต้องนั่งติดกันอย่างรถตู้ รถเมล์จะทำอย่างไร ถ้าฝ่าฝืนมีโทษอย่างไร
พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวว่า โทษไม่อยากพูด เพราะเข้าใจว่ากรมการขนส่งมีข้อแนะนำในการปฏิบัตินี้ออกมาแล้ว อย่างน้อยควรเว้นระยะ 1 เมตร การนั่งรถตู้ที่นั่งเว้นที่นั่งก็น่าจะเหมาะสม คิดว่าเป็นข้อแนะนำประชาชนมากกว่า ถ้าผ่านด่านตรวจก็อาจจะแนะนำความเหมาะสมในการนั่ง และที่สำคัญต้องมีหน้ากากอนามัยในการป้องกันตัวเอง ส่วนกรณีการนั่งในรถบขส.ก็ทราบว่ามีมาตรการและหยุดขายตั๋วแล้ว 

ถ้าขับรถผ่านด่านแล้วปรากฏว่าตัวร้อนมีไข้สูงต้องกักตัวตรงนั้นหรือต้องดำเนินการอย่างไร
โฆษกสตช. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำ ณ ด่านตรวจจะมีวิธีการดำเนินการตามขั้นตอนของกรมควบคุมโรค โดยเบื้องต้นจะกักตัว ณ ด่านตรวจ แล้วจะมีเจ้าหน้าที่พาไปที่สถานพยาบาลตามบัญชีที่ขึ้นไว้ใกล้เคียงที่สุด และเท่าที่ทราบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำด่าน จะเป็นผู้วินิจฉัยตรงนั้น