เปิดแผนเฟส 2-3 รับมือไวรัสอู่ฮั่น

30 ม.ค. 2563 | 09:03 น.

กรมควบคุมโรคเตรียมแผนระยะ2-3 รับมือไวรัสโคโรนา แนะตรวจเข้มทุกอาชีพที่สัมผัสคนจีน คาดใช้หน่วยทหารรับคนไทยจากอู่ฮั่น

 

วันที่ 30 ม.ค. 63 กรมควบคุมโรค จัดประชุมแพทย์ทั่วประเทศในการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่2019 ที่โรงแรมรามาการ์เด้น โดยมีแพทย์จากโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุภาพประจำตำบล สาธารณสุขจังหวัด ประมาณ 350 คน

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนผ่านดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิตอนแรกอาจจะไม่มีไข้เกิดขึ้น นั่นคือส่วนหนึ่งของเคสที่เพิ่มเติมขึ้นมา และ 5-6 เคสที่อยู่ในไทย แล้วคนที่ไปสัมผัสมีอีกไหม แพร่เชื้อไปบ้างหรือเปล่า ชาวจีนไม่ได้มากับบริษัททัวร์เท่านั้น มาเอง มากับเพื่อนก็มี

อาจจะมีบางส่วนที่มีเชื้อแต่ยังไม่มีอาการ นั่งแท็กซี่จากสนามบินเพื่อเดินทาง ซึ่งอาจจะกระจายเชื้อได้ทั้งสิ้น จึงอยากจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นได้และเป็นเฟสต่อไปของประเทศไทย แต่ไม่ต้องตกใจเพราะนี่สิ่งปกติที่จะเกิดขึ้น เรามาคุยกันว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร

การเตรียมพร้อมขณะนี้เราเฝ้าระวัง 5 สนามบินหลัก สิ่งที่ต้องคิดคือมีสนามบินนานาชาติอีกหลายแห่ง ทั้งหาดใหญ่ อุบลราชธานี อุดรธานี เชียงราย สิ่งที่ต้องคิดคือแล้วจุดเหล่านี้ต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้างและสมมติว่าชาวจีนที่มีเชื้อแต่กลับประเทศไม่ได้ ซึ่งเขาอาจจะอยู่กับที่หรือทัวร์ต่อลองคิดสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ว่าไปเที่ยวที่ไหนต่อ อาทิ วัดล่องขุ่น จ.เชียงราย สวนนงนุช จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องเตรียมตัว และสิ่งที่ต้องเตรียมตัวต่อไปในเฟสที่ 3 คล้ายๆกับการเตรียมการไข้หวัดใหญ่ 2009 เพราะต่อจากนี้อาจจะมีเคสในกลุ่มอื่นๆ  

เปิดแผนเฟส 2-3  รับมือไวรัสอู่ฮั่น
เป้าหมายการสื่อสารวันนี้คือ ไม่ให้มีผู้เสียชีวิตและไม่ให้แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยใช้กลยุทธ์ในการจัดการภาวะฉุกเฉิน 5 ข้อ คือ

1.เฝ้าระวังผู้ป่วย ที่นิยมเข้ามาคือ สนามบิน สถานพยาบาล ชุมชน โดยเน้นกลุ่มทัวร์ นักท่องเที่ยวชาวจีน และผู้ที่ทำงานใกล้ชิดชาวจีน ในกรณีพบในสถานพยาบาล คือจุดที่ต้องเฝ้าระวัง ยิ่งเป็นต่างชาติต้องถามให้ละเอียดซักประวัติว่าไปไหนมาบ้างเมืองไหน ชุมชุนไหนบ้าง เพราะถ้าตามสื่อโซเชียลก็จะมีคนหวังดีแจ้งว่ามีคนจีนในหมู่บ้านใกล้ ในคอนโดมีคนจีนเยอะ ซึ่งอาจจะเดินทางกลับไปกลับมา หรืออยู่มานานแล้ว ซึ่งพบว่าหลายคอนโดมีแอลกอฮอล์เจล 

เปิดแผนเฟส 2-3  รับมือไวรัสอู่ฮั่น

2.จัดระบบการดูแลรักษาและตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยตามหลักการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ  ดังนั้นต้องคิดว่าทุกจังหวัดมีโอกาสเสี่ยงเหมือนกันหมด  
3.ติดตามอาการของผู้สัมผัส ผู้ป่วยยืนยัน 
4.จัดระบบการประสานและเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด 
5. จัดกลไกการสื่อสารความเสี่ยงที่มีประสิทธิ์ภาพ ในพื้นที่ชุมชนของท่าน

จากนั้น นายแพทย์อัษฎางค์ ได้อธิบายถึง 6 กลยุทธ์ในการรับมือสถานการณ์ เริ่มจากกลยุทธ์ที่ 1 เฝ้าระวังผู้ป่วย 1.คัดกรองผู้เดินทางที่สนามบิน ให้ข้อมูลและทำ Health Beware Card  2.ควบคุมกำกับให้มีการคัดกรองที่ OPD ในทุกสถานพยาบาล ถ้าทำได้ทุกพื้นที่โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้ยิ่งดี 3.เฝ้าระวังและสอบสวนหาสาเหตุฯปอดอักเสบอาการรุนแรง และบุคลากรทางการแพทย์ 4.เฝ้าระวังในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มทัวร์ โรงแรม

“Health Beware Card แต่ละพื้นที่สามารถดาวน์โหลดแล้วทำเป็นภาษาจีนได้เลย ข้อมูลจะบอกว่าเขาไปที่ไหนมาบ้าง เพื่อให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาล ซึ่งได้มีการประสานสายการบินเพื่อแจกให้ชาวจีนตั้งแต่ช่วงปีใหม่แล้วตั้งแต่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา”  

กลยุทธ์ที่ 2 ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ 1.เตรียมความพร้อมของบุคลากรเรื่องขอการป้องกันตัวเอง 2. เตรียมอุปกรณ์คามพร้อมของห้องแยก Negative pressure room และ อุปกรณ์ป้องกัน ในทุกจังหวัด  โดยมีการรวบรวมข้อมูลห้อง Negative pressure ของแต่ละแห่งว่ามีกี่ห้อง ทั้งประเทศมีจำนวนเท่าไร แต่หลายที่บอกว่ามีจุดอ่อนข้อบกพร่อง ขอเรียนว่าแม้มีจุดอ่อนก็ต้องเตรียมความพร้อมและแก้ไขในจุดที่แก้ไขได้ไปก่อน  หรืออาจจะต้องแยกวอร์ดออกมาหากมีเคสมากกว่า 1 เคสหรือไม่  

เปิดแผนเฟส 2-3  รับมือไวรัสอู่ฮั่น

“สมมติทีมส่วนกลางประเมินว่าจะมีการรับคนไทยจากอู่ฮั่นมา ไม่ว่าจะกลับมาโดย C130 หรือ แอร์เอเชีย ซึ่งอาจจะมีผู้คนหลักร้อยหรือสองร้อย หรือห้าร้อย ส่วนกลางคิดอยู่เสมอว่าอาจจะไม่ใช้วอร์ดของบำราศนราดูรเพราะรองรับได้ไม่เท่าไร อาจจะคิดถึงหน่วยทหารที่ดอนเมืองหรือไม่ หรือของทหารเรือหรือไม่ที่อาจจะรองรับเพื่อให้คอยไม่ให้มีการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งอาจจะมีเชื้อมาด้วยหรือไม่ก็ได้”

กลยุทธ์ที่ 3 การดูแลรักษาผู้ป่วย 1.จัดทำและเผยแพร่แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย 2.จัดทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา 3.จัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยโดยเฉพาะในจังหวัดที่มีเที่ยวบินหรือนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก 3.จัดทำแนวทางการเก็บสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ 5.การตรวจตัวอย่างเพื่อหาเชื้อ และ 6.Refer  ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแนวทางให้รีเฟอร์เข้าส่วนกลาง เพราะสมมติว่าหลายจังหวัดพบเคสแล้วส่งต่อมาที่บำราศนราดูร นึกถึงภาพช่วงเมอร์ส และซาส์ จึงไม่มีนโยบายให้ย้ายผู้ป่วยมาส่วนกลาง จะกลายเป็นปัญหาใหญ่อย่างยิ่ง  ดังนั้นโรงพยาบาลทุกแห่งต้องเตรียมความพร้อมของตัวเอง เตรียมห้องฯให้พร้อม

กลยุทธ์ ที่ 4 การติดตามผู้สัมผัส แบ่งเป็น High risk คือ ญาติ เพื่อนร่วมทัวร์ คนนั่งเครื่องบินแถวเดียวกันและสองแถวหน้าและหลัง มีความเสี่ยง  HCWs ผู้สัมผัสใกล้ชิด เช่น พนักงานโรงแรม โดยต้องติดตามวัดไข้ทุกวันและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่วน Low risk คือ เที่ยวบินเดียวกันและผู้สัมผัสอื่นๆ ให้สังเกตจากอาการเอง และ Self –report  ด้วยการติดต่อทางโทรศัพท์

เปิดแผนเฟส 2-3  รับมือไวรัสอู่ฮั่น

“คนนั่งเครื่องบินแถวเดียวกันและสองแถวหน้าและหลัง มีความเสี่ยง เรามีเคสที่พบในช่วงแรกที่มาแอดมิดที่บำราศ เราก็ติดตามผู้ที่นั่งแถวหน้าแถวหลังด้วย และพบว่ามีไข้และป่วยด้วย”

และกลยุทธ์ที่ 5-6 . เรื่องการจัดระบบเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารความเสี่ยง สามารถเข้าไปดูได้ทางเว็บไซต์ของกรมฯว่าเน้นบุคลากรและประชาชน

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวถึงแนวทางเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ระดับพื้นที่ กรณี Imported cases หากดูเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกหรือทางการจีน จะเห็นว่าแผนที่ของจีนแดงทั้งหมด และ 17 ประเทศพบเคสแล้ว และพื้นที่เสี่ยงอย่าคิดว่าเฉพาะจังหวัดที่มีสนามบินเท่านั้น แต่ต้องคิดว่าจังหวัดชายที่มีชายแดน เช่น ชายแดนแม่สาย จ.เชียงราย ชายแดนสระแก้ว ชายแดนมาเลเซีย เพราะกัมพูชาและมาเลเซียมีรายงานผู้ติดเชื้อแล้ว แต่จะสร้างความตระหนกเกินไป เพราะคนคนเดียวโอกาสจะน้อย แต่ก็ต้องป้องกัน 

เปิดแผนเฟส 2-3  รับมือไวรัสอู่ฮั่น

“ต้องสำรวจว่าจังหวัดของท่านมีชายแดนหรือไม่ มีแหล่งท่องเที่ยวที่เสี่ยงหรือไม่ ต้องแสกนว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ แล้วเข้าไปจัดการดูแล ไม่ใช่พูดคุยกับสถานพยาบาล อาจจะต้องเข้าไปแนะนำว่าห้องน้ำ ราวบันไดเลื่อน ประตูห้องน้ำ ปุ่มกดลิฟท์ ก็ทำความสะอาด เพราะส่วนกลางก็พูดคุยกับ BTS และ MRT ว่าเขามีความเสี่ยงที่จะต้องทำความสะอาดบ่อยๆ” 

น.พ.อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของสถานศึกษาผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการเข้าแถวตอนเช้า ตตรวจเช็คนักเรียนด้วยว่าป่วยหรือไม่ ถ้ามีคนป่วยจำนวนมากจะต้องทำอย่างไร  นอกจากนี้แล้วผู้สูงอายุและเด็กเล็กก็เป็นกลุ่มเสี่ยง  ที่ภูมิคุ้มกันน้อย ดังนั้นเคสที่เกิดขึ้นมักเกิดขึ้นกับคนสูงอายุและเด็ก จึงขอให้ใช้ระบบผู้ติดตามเฝ้าระวังโดยใช้ อสม. และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเข้ามาช่วย(รพ.สต.) 

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวตอนท้ายว่า เรื่องของการให้ข่าว หลายท่านตามข่าวจากโซเชียลใน 2 วันนี้เดี๋ยวมีจังหวัดต่างๆขึ้นมา เพราะสื่อขอบมาก โซเชียลไปได้เร็วมาก แต่ย้ำว่าปลัดกระทรวงสาธารสุขได้สั่งการแล้วว่า ในการแถลงข่าวด้านบวกให้แถลงโดยกระทรวงเท่านั้น เช่นมีรายที่จะหายแล้วจะส่งกลับแล้ว ขอให้หลีกเลี่ยงให้ข่าว ขอให้ประสานกับกรมฯ

 “เรื่องนี้ย้ำนะครับ สำคัญมาก ในกรณีพบผู้ที่สงสัยก็ต้องรอกระทรวงแถลงเช่นกัน ส่วนระดับจังหวัดแถลงข่าวได้นอกเหนือจากกรณีที่ต้องยืนยันเท่านั้น แต่ย้ำว่าสิ่งที่ต้องการสื่อสารคือให้คิดเสมอว่าทุกจังหวัดมีความเสี่ยงและต้องเตรียมพร้อม และต้องวิคราะห์ว่าเขตของท่านมีอะไรบ้างต้องขยับลุกเตรียมตัว”