มองเศรษฐกิจ ปี 2563

18 ม.ค. 2563 | 23:40 น.

 

คอลัมน์ บทความ โดย ดร.สันติ กีระนันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ และเลขานุการ คณะกรรมาธิการสามัญ การเงิน การคลัง ระบบการเงิน และตลาดการเงิน

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19-22 มกราคม 2563

 

ปี 2563 นี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยก็ยังคงตกอยู่ภายใต้ปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งปัจจัยความไม่แน่นอนเหล่านั้นมีนํ้าหนักด้านลบมากกว่าด้านบวก นำไปสู่ความเสี่ยงต่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมาจากปี 2562

 

ปัจจัยภายนอกประเทศ

ปี 2562 เป็นปีที่เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นต้นด้วยความน่ากังวลใจ เพราะสงครามทางการค้าระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก 2 ชาติ คือสหรัฐอเมริกาและจีน ทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ต้นปี และสอดแทรกด้วยข่าวการเจรจาที่ดูเหมือนจะได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้างสลับกันไปมา ซึ่งทำให้เกิดความกังวลใจต่อภาคเศรษฐกิจจริงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากคู่ความขัดแย้งแล้ว ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความสนใจให้กับคนในโลกนี้ คือการพบปะกันของผู้นำสหรัฐอเมริกา กับผู้นำของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ในปีก่อนหน้า และการบรรลุข้อตกลงหยุดการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ดูเหมือนจะทำให้ความกังวลใจของประชาคมในเรื่องดังกล่าวลดลงในปี 2562 แต่ก็ไม่แสดงว่าเกาหลีเหนือจะยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง จึงยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองต่อไปในระยะปานกลางถึงระยะยาว

อีกเหตุการณ์ความตึงเครียดในการเมืองโลกล่าสุดก็คือ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งกองทัพโจมตีทางอากาศ ถล่มขบวนรถ 2 คันของกองกำลังฮาเซด อัซาอาบี ที่ท่าอากาศยานนานาชาติแบกแดด ส่งผลให้ นายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน เสียชีวิตพร้อมกับนายทหารอื่นๆ รวม 8 ราย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเหตุบุกสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก

 

ปัจจัยภายในประเทศ

ความเปลี่ยนแปลงและความตึงเครียดในสถานการณ์การเมืองโลก ส่งผลให้เกิดความกังวลใจและกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าของโลกอย่างยากที่จะคาดการณ์ได้ชัดเจน ในขณะเดียวกันปัจจัยภายในประเทศก็ยังคงมีนํ้าหนักในการกดดันภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจัยความท้าทายภายในประเทศ ก็คงจะหนีไม่พ้นความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจจะเพิ่มความตึงเครียดด้วยความขัดแย้งของพรรคการเมืองบางพรรคที่อาจจะสร้างความขัดแย้งทางความคิด ส่วนจะเพิ่มความรุนแรงไปจนกลายเป็นความแตกแยกอีกครั้ง หนึ่งหรือไม่นั้น ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

นอกจากนั้นแล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2563 ก็มีเค้าลางของภัยแล้งรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย และอาจจะเป็นภัยแล้งที่รุนแรงมากที่สุดในรอบหลายสิบปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมีโอกาสจะสะดุดลงได้อย่างมากอีกปีหนึ่ง

ตลาดการเงินในประเทศไทย ต่อเนื่องมาจากปี 2562 ก็ยังมีความยากลำบากจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง จนอาจจะ บั่นทอนความสามารถในการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

 

มองเศรษฐกิจ ปี 2563


 

 

ปี 2562 เป็นปีที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นทั้งปี (ยกเว้นช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ต่อต้นไตรมาสที่ 2) และแข็งค่าไปจนเกือบหลุด 30 บาทต่อดอลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลหลักมาจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเพิ่มขึ้นถึง 6.13% เมื่อเทียบระหว่างเดือน ตุลาคม กับมกราคม และเพิ่มขึ้น 5.30% เมื่อเทียบระหว่างเดือนพฤศจิกายน กับ มกราคม เมื่อช่วงสิ้นปี วันที่ 30 ธันวาคม 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 29.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนอัตราดอกเบี้ยทุกประเภทในปี 2562 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งไม่ได้เป็นเหตุการณ์ในประเทศไทยเท่านั้น แต่อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกอย่าง LIBOR ก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน แม้ต้นปี 2563 เงินบาทจะอ่อนค่าลงมาเล็กน้อยที่ 30.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

 

มองเศรษฐกิจ ปี 2563

 

มุมมองต่อ GDP ในปี 2563 ของ House ต่างๆ

House’s view ใน GDP growth 2020 forecasts จะเห็นได้ว่า กระจายอยู่ระหว่าง 2.5-3.1% โดยธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าในปี 2563 อัตราการเติบโตของ GDP ประเทศไทย 2.8% และมี HSBC ที่มีมุมมองที่ดีที่สุด (3.1%) ในขณะที่ ING มีมุมมองว่าการเติบโตของ GDP จะ มีเพียง 2.5%

 

มองเศรษฐกิจ ปี 2563

 

 

ควรจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร

โดยสรุปจากปัจจัยต่างๆ ที่เห็นมาดังกล่าวนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า ปี 2563 นี้ ภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังอยู่ในทิศทางที่น่ากังวลใจ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกระตุ้นการบริโภคเพียงอย่างเดียวนั้น อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การกระตุ้นการลงทุนที่มุ่งไปในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน อาจจะต้องมีการดำเนินการไปพร้อมกัน

เช่น การพัฒนาระบบการบริหารจัดการนํ้า เพื่อลดปัญหานํ้าแล้งและนํ้าหลากของประเทศไทย อันเป็นปัญหาซํ้าซาก การสร้างเมืองแฝดกับกรุงเทพมหานคร โดยสร้างเป็นเมืองอัจฉริยะ เพื่อแก้ปัญหามลพิษและความแออัดในกรุงเทพ- มหานคร เป็นตัวอย่างของโครงการลงทุนที่น่าจะสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้ภาคเอกชนได้ลงทุนตามภาครัฐ และจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมกับลดปัญหาการ กระจุกตัวของรายได้ที่นับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยในขณะนี้