8 องค์กรใหญ่ผนึกกำลังช่วยเหลือสัตว์ประสบภัยพิบัติ

08 ธ.ค. 2562 | 09:51 น.

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย จัดโครงการ #DontForgetThem พร้อมร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยจับมือภาคีพันธมิตร 8 องค์กร ได้แก่ กรมปศุสัตว์, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กองทัพบกโดยกรมการสัตว์ทหารบก, สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย, สมาคมสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทย์แห่งประเทศไทย โดยมี สมาพันธ์สมาคมสัตวแพทย์แห่งเอเชีย FAVA
และสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน

นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวถึงการร่วมลงนามในครั้งนี้ว่า ในการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ เป็นการตกลงร่วมกันในเชิงสัญลักษณ์ หรือนามธรรมว่าจะมีการร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือสัตว์ ทั้งก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิดภัยพิบัติ
ซึ่งเป็นการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในส่วนของภาครัฐ ทางกรมปศุสัตว์ได้มีการร่างแผนเพื่อจัดการภัยพิบัติขึ้น โดยเฉพาะในสัตว์เลี้ยงซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

8 องค์กรใหญ่ผนึกกำลังช่วยเหลือสัตว์ประสบภัยพิบัติ

อีกส่วนหนึ่งของงานที่ริเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมไปแล้ว คือ โครงการรณรงค์ #DontForgetThem เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของสัตว์รู้ตัวว่า ตนเองมีหน้าที่เตรียมการก่อนเกิดภัย และดำเนินการดูแลสัตว์ของตนในขณะเกิดภัยอีกด้วย
 

"เรามองว่าปัญหาภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องไกลตัวของใครเลย และการจัดการภัยพิบัติก็ไม่ใช่เรื่องของใครเพียงแค่คนเดียวด้วย เราอยากให้ทุกคนอย่าลืมสัตว์เลี้ยง หรือทิ้งพวกเขาไว้เบื้องหลังอย่างโดดเดี่ยว เพราะพวกเขาพูดไม่ได้ และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนมนุษย์ ดังนั้น เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นนอกจากจะเตรียมตัวเราเองแล้ว ก็อยากให้ทุกคนนึกถึงการเตรียมพร้อมสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วยทุกครั้ง”

8 องค์กรใหญ่ผนึกกำลังช่วยเหลือสัตว์ประสบภัยพิบัติ

โครงการ #DontForgetThem จะดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ที่ประสบภัยพิบัติในประเทศไทย โดยแบ่งเป็น  2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนของภาครัฐผ่านการร่างแผนปฎิบัติการเพื่อการให้ความช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงในภาวะภัยพิบัติ และภาคประชาชน ที่นำโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกภายใต้โครงการ #DontForgetThem ที่จัดขึ้น เพื่อรณรงค์และกระตุ้นเจ้าของสัตว์ เตรียมการรับมือกับการเกิดภัยพิบัติ อาทิ อุทกภัย อัคคีภัย และวาตภัย
เพื่อให้การดูแลปกป้องสัตว์เป็นไปอย่างครบครันและพร้อมเพรียง

กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นผลการดำเนินงานที่สืบเนื่องจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2011 ซึ่งในขณะนั้น องค์กรต่างๆ ยังไม่มีความร่วมมือในการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือสัตว์อย่างเป็นระบบ จึงทำให้การจัดการทรัพยากรด้านยา เวชภัณฑ์ บุคลากร และเครื่องใช้ รวมไปถึงยานพาหนะถูกจัดสรรไปใช้อย่างไม่ทั่วถึงในพื้นที่ประสบภัย ส่งผลให้คณะทำงานเกิดแนวความคิดที่จะรวบรวบหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานให้ความช่วยเหลือ หรือที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกๆ ด้านมาร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านองค์ความรู้, การประสานงาน, ขั้นตอนและเทคนิคในการจัดการภัยพิบัติสำหรับสัตว์

รวมถึงลดช่องว่างและลดการทับซ้อนในการทำงานเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้น โดยจุดประสงค์ของบันทึกความเข้าใจครั้งนั้น มีหลักใหญ่ 2 ข้อคือ
1. เพื่อให้เกิดการร่างแผนปฎิบัติการอันเป็นรูปธรรมในการให้ความช่วยเหลือ สัตว์ในภาวะภัยพิบัติ 2. เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และพัฒนา และในวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 2013 ทั้ง 9 องค์กรหลัก ด้านการดูแลสัตว์ของประเทศไทย จึงได้ร่วมลงนามความร่วมมือว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติของประเทศไทย

8 องค์กรใหญ่ผนึกกำลังช่วยเหลือสัตว์ประสบภัยพิบัติ

และเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมาทั้ง 9 องค์กรได้เห็นพ้องกันเพื่อร่วมขับเคลื่อนให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ของการร่วมมือ โดยเสนอให้มีการแก้ไขรายละเอียดของบันทึกบางประการ เพื่อให้พันธกิจชัดเจนและกระชับเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น รวมถึงผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคอีสานครั้งล่าสุด ส่งผลให้หลายคนได้เห็นภาพสัตว์เลี้ยงประสบภัยมากมาย ทั้งบนสื่อโซเชียลและสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมากรมปศุสัตว์มีการดำเนินงาน เพื่อดูแลสัตว์ในส่วนของปศุสัตว์ไว้แล้ว ทำให้เหตุอุทกภัยครั้งล่าสุด บรรดาสัตว์ต่างๆ ได้รับการเตรียมการและช่วยเหลืออย่างเป็นขั้นตอน