“ไบโอพลาสติก” ทางออกขยะล้นเมือง

04 ธ.ค. 2562 | 10:00 น.

นักวิชาการชี้ไบโอพลาสติกช่วยแก้ปัญหาขยะล้นโลก ชูคุณสมบัติเด่นย่อยสลายได้ทางชีวภาพ แม้ความคงทนไม่เทียบพลาสติกจากปิโตรเลียม แต่ช่วยลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ฝากรัฐวางมาตรการกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าใช้ผลผลิตจากซากพืชซากสัตว์ สร้างไบโอพลาสติก

วันที่ 4 ธ.ค.2562 ที่วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ กล่าวว่า พลาสติก เป็นวัตถุที่สร้างขึ้นจากปิโตรเลียม มีด้วยกันหลากหลายประเภท เช่น พลาสติก PE และ PP ซึ่งพลาสติกมีคุณสมบัติเด่น คือ เหนียว ทนความร้อน ทนสภาพได้ดี และราคาถูก แต่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกอย่างเช่นในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้หลายภาคส่วนเริ่มตื่นตัวที่จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกด้วยการหันมาใช้วัสดุผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภท “ไบโอพลาสติก” หรือ พลาสติกแตกสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradability)

ศ.ดร.สุวบุญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไบโอพลาสติก เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากน้ำมันปิโตรเลียมและพืช เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ผ่านกระบวนการสกัดตามชีวภาพ ทำให้เมื่อทิ้งลงดินก็จะสามารถย่อยสลายกลายเป็นดินได้เองตามธรรมชาติเป็นวงจรแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ สำหรับการย่อยสลายของพลาสติก สามารถแบ่งได้ในรูปแบบของ Biodegradation พลาสติกที่ย่อยสลายตามชีวภาพ เป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ 100% Compostable polymers พลาสติกแบบฝังกลับและได้เป็นปุ๋ย มีมาตรฐาน D6400 ว่าเมื่อมีการนำพลาสติกไปฝังกลบต้องหายไปหมดเกลี้ยงภายใน 180วัน  ส่วนใหญ่ใช้เพื่อวิเคราะห์บรรจุภัณฑ์ หรือแพคเกจจิ้ง แต่ทั้งนี้การฝังกลบก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของแต่ละที่ แต่ละประเทศด้วย

“ไบโอพลาสติก” ทางออกขยะล้นเมือง

ขณะที่ based plastics (BMP) เป็นการช่วยโลกได้เพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งในหลายประเทศมีการผลิตโดยใช้ไบโอพลาสติกและพลาสติกจากปิโตรเลียมมาเบลนเข้าด้วยกัน เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่นำไบโอพลาสติกปริมาณร้อยละ 30 มาผสมกับพลาสติกจากปิโตรเลียมร้อยละ 70 เพื่อใช้ผลิตขวดแชมพู ซึ่งการผลิตที่เกิดขึ้นสามารถช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกให้โลกได้แล้ว 30% และยังเป็นการลดปริมาณการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียมมาใช้พลาสติกจากซากพืชซากสัตว์อย่างไบโอพลาสติกอีกด้วย  

“สิ่งที่พบในกระบวนการไบโอพลาสติก เป็นวงจรในธรรมชาติ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน และช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกและภาวะโลกร้อนได้ด้วย เพราะภาวะโลกร้อนเกิดจากคาร์บอนไดออกไซด์ การที่พืชเจริญเติบโตมีการปล่อยและกินคาร์บอนไดออกไซต์อยู่แล้ว  การที่มนุษย์เอาคาร์บอนไดออกไซต์ใต้โลกมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมัน และมีการใช้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไปเช่นกัน เพราะการแก้ปัญหาโลกร้อนได้ดีที่สุด คือ มนุษย์ไปเจาะเอาคาร์บอนใต้ดินมาใช้”ศ.ดร.สุวบุญ กล่าว

ศ.ดร.สุวบุญ อธิบายว่า นอกจากพลาสติกประเภท Biodegradation แล้ว ยังมีพลาสติกอีกประเภทเรียกว่า OXO-biodegradable เป็นพลาสติกประเภทที่ไม่สามารถย่อยสลายจนให้คาร์บอนไดออกไซต์ หรือมีเทนก๊าซได้ เพราะมีโลหะหนักจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อเกิดการกระตุ้นทางเคมีพลาสติกจะเกิดการแตกสลายเป็นเสี่ยงๆ แต่อยู่ในสภาพพลาสติกเช่นเดิม เรียกว่าไมโครพลาสติก ซึ่งหากไมโครพลาสติกตกลงไปในทะเล ไหลลงไปตามน้ำ สัตว์น้อยใหญ่กินเข้าไปก็ตายเช่นเดียวกัน  

“การย่อยสลายของพลาสติก พบว่ามีหลายเรื่องที่เป็นเรื่องใหม่ของวงการวิชาการ เพราะบางพลาสติกย่อยสลายได้ในดิน บางพลาสติกย่อยสลายได้ในน้ำทะเล แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้ชัดเจน คือไบโอพลาสติกสามารถย่อยสลายได้100% แต่ไม่ตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะหากไม่มองเรื่องขยะ พลาสติกที่มาจากปิโตรเลียมสามารถตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตของผู้คนได้ เพียงแต่พลาสติกที่มาจากปิโตรเคมีไม่สามารถแตกสลายได้ทางชีวภาพ ทำให้ตอนนี้หลายบริษัท องค์กรจึงมุ่งพัฒนาพลาสติกที่ย่อยสลายได้ และมีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกมาจากปิโตรเลียม แต่กำลังอยู่ในการทดลอง ดังนั้น ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่มี ไบโอพลาสติกที่ทำงานได้ดีเทียบเท่าพลาสติกจากปิโตรเลียม และราคาไบโอพลาสติกค่อนข้างสูงเมื่อเทียบพลาสติกจากปิโตรเลียม 2-3 เท่าตัว การแก้ปัญหาตอนนี้จึงมีการนำไบโอพลาสติกผสมเข้ากับพลาสติกจากปิโตรเลียม เช่น มีการนำไบโอพลาสติก PLA ผสมกับพลาสติกจากปิโตรเลียม PBS เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปได้จริงในท้องตลาด สามารถใช้งานได้จริง” ศ.ดร.สุวบุญ กล่าว 

ส่วนเรื่องมาตรการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ด้วยการลดปริมาณการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งและพยายามเอาพลาสติกที่เป็นไบโอพลาสติกมาใช้นั้น ศ.ดร.สุวบุญ มองว่า การใช้ไบโอพลาสติกสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติกได้ เพราะพลาสติกเหล่านี้สามารถย่อยสลายได้ แต่เนื่องจากวัสดุประเภทไบโอพลาสติกนั้นมีต้นทุนสูงการผลิตสูงและราคาแพง รัฐบาลจึงควรมีมาตรการช่วยเหลือ อย่างการลดภาษี ซึ่งตอนนี้มีการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เกิดขึ้นได้จริงผ่านมาตรการทางภาษี แต่ก็อยากให้เกิดอุตสาหกรรมไบโอเคมี เทียบคู่กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมด้วย เพราะไทยมีการนำอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด มาใช้ผลิตเป็นน้ำตาล  น้ำมัน แต่ยังไม่ได้เดินหน้าเรื่องเหล่านี้ให้กลายเป็นไบโอในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะมาใช้ทำไบโอพลาสติกก็สามารถทำได้

ศ.ดร.สุวบุญ กล่าวอีกว่าไบโอพลาสติก ถ้าพูดถึงเรื่องคุณภาพชีวิตต้องมองว่าคุณภาพชีวิตด้านไหน ถ้าพูดถึงคุณภาพชีวิตในแง่ความสะดวกสบาย ต้องบอกว่าตอนนี้ไบโอพลาสติกอาจจะไม่ได้มีคุณภาพที่เทียบเท่าพลาสติกจากปิโตรเลียม แต่เชื่อว่าอีก 2 ปีสามารถพัฒนาให้ไบโอพลาสติกสามารถใช้งานได้เทียบเท่า ขณะเดียวกัน ปัญหาของบ้านเรา คือ การบริหารจัดการขยะที่ไม่ดี หากคุณภาพชีวิตในแง่สะดวกสบายสามารถใช้พลาสติกจากไบโอพลาสติก ทิ้งและย่อยสลายได้ 100% ในอีก 6 เดือน ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาตกค้างในดิน ท้องทะเล ที่สำคัญยังเป็นการลดปัญหาขยะล้นโลก และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกให้คงอยู่ต่อไป