9อาชีพโอนเกิน5หมื่นข้ามประเทศเสี่ยงผิดกฎหมายปปง.

02 ต.ค. 2562 | 07:14 น.

เมื่อวันอังคารที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ หลักการร่างกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้  และครม.สั่งให้สำนักงานปปง.รับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ พบว่าเจาะจงคุมเข้ม “สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ของ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่ต้องดำเนิน ซึ่งมีทั้งหมด 9 อาชีพ

 

1.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินการการให้คำแนะนำ หรือบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน การลงทุน หรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่มิใช่สถาบันการเงิน  2.ผู้ประกอบการอัญมณี เพชร พลอย ทองคำ  3.ผู้ประกอบการอาชีพค้าหรือให้เช่าซื้อรถยนต์ 4.นายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ 5.ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าและวัตถุโบราณ

 

6.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคล 7.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ 8.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน  9.ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

 

ทั้ง 9 อาชีพ มีหน้าที่ตามกฎหมายคือ 1. ประเมิน บริหาร และบรรเทาความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงอันเกิดจากลูกค้า พื้นที่หรือประเทศ ผลิตภัณฑ์ บริการ ธุรกรรม หรือช่องทางในการให้บริการ 

 

2. ต้องระบุตัวตนและพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้า รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะธุรกิจของลูกค้า ตลอดจนโครงสร้างการบริหารจัดการหรือการเป็นเจ้าของ และอำนาจในการควบคุมนิติบุคคลหรือบุคคลที่มีการตกลงกันทางกฎหมายนั้นด้วย 

 

3. ต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงในระดับที่เข้มข้นที่สุด หากพบกว่าลูกค้ามีความเสี่ยงสูงจนอาจเป็นเหตุให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบ 9 อาชีพ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ต้องปฏิเสธการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ไม่ทำธุรกรรม ยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ หรือไม่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวกับลูกค้าดังกล่าว และรายงานเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงาน

 

4. อาจลดระดับความเข้มข้นในการดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำลงได้   5. ดำเนินการบริหารความเสี่ยง ด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง สำหรับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวที่มีความเสี่ยงสูง โดยต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวดังกล่าวในระดับที่เข้มข้นที่สุด ในกรณีที่ลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวมีความเสี่ยงสูงจนอาจเป็นเหตุให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบ 9 อาชีพ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง สถาบันการเงินและ ต้องไม่ทำธุรกรรมกับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวดังกล่าว และรายงานเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงาน 

 

6. กรณีที่มีการให้บริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป สถาบันการเงินผู้ส่งคำสั่งโอนและสถาบันการเงินผู้รับคำสั่งโอนต้องดำเนินการส่งและรับข้อมูลของผู้โอนและผู้รับโอนพร้อมคำสั่งโอนเงิน โดยต้องจัดให้คำสั่งโอนเงินมีข้อมูลของผู้โอนและผู้รับโอน”

 

7.กรณีการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับสถาบันการเงินตัวแทน ประเภทการชำระเงินโดย ผ่านบัญชีโดยตรง สถาบันการเงินต้องรับรองได้ว่า สถาบันการเงินตัวแทนต้องดำเนินการบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าและจะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงและการตรวจสอบ เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้ารายนั้นแก่สถาบันการเงินตามที่ได้รับการร้องขอ 

 

8. ต้องดำเนินการตามนโยบายและระเบียบวิธีการเกี่ยวกับการควบคุมภายในที่เหมาะสมกับความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงภายในองค์กรและขนาดธุรกิจของสถาบันการเงินและผู้ประกอบ 9 อาชีพ

สรุปง่ายๆคือ หน้าที่ของสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ตามกฎหมายปปง. มีหน้าที่ 4 อย่างที่ต้องทำคือ การรายงานธุรกรรม การจัดให้ลูกค้าแสดงตน การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และการเก็บรักษาเอกสาร

 

ถ้าสถาบันการเงินและ 9 อาชีพที่กฎหมายระบุ ไม่ปฏิบัติ ก็มีบทลงโทษจากเบาไปหาหนัก

 

เริ่มตั้งแต่ หากไม่รายงานการทำธุรกรรม ไม่จัดให้ลูกค้าแสดงตนก่อนการทำธุรกรรม ไม่เก็บรักษารายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงตนและบันทึกข้อเท็จจริง ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งยับยั้งการทำธุรกรรม ไม่เก็บรักษารายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของลูกค้าให้ครบเวลา10ปี ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

 

หากผู้มีหน้าที่รายงานไม่จัดให้บุคคลที่ผ่านการอบรมด้าน AML/CFT จากสำนักงาน ปปง. ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การจัดให้ลูกค้าแสดงตน การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

 

และหากรายงานการทำธุรกรรมอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ต้องแจ้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5 หมื่น ถึง 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

หากไม่มาให้ถ้อยคำ ไม่ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือหรือไม่ส่งบัญชีเอกสารหรือหลักฐาน แก่กรรมการธุรกรรม เลขาธิการปปง. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1  ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

 

และโทษสูงสุด หากฝ่าฝืนการห้ามเปิดเผยข้อมูลของลูกค้า หรือ อาจรู้ความลับในราชการเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นรู้หรืออาจรู้ความลับดังกล่าว เว้นแต่เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฎใหม่ โอนข้ามประเทศเกิน5หมื่น โดนตรวจสอบ
BBL ชี้ กฎโอนเงินใหม่ 5 หมื่นบาท น้อยไป​​​​​​​
BAY ยันรายงาน แม้ต่ำ 5 หมื่นบาท